เปิดประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน
 


เปิดประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน


เปิดประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน

กนอ.ชูแผนปั้น 6 นิคมอุตสาหกรรมรับ “เออีซี”

กนอ.ดันสุดลิ่ม 6 นิคมอุตสาหกรรม รวม 6,600 ไร่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามแนวชายแดนใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย บีโอไอให้สิทธิประโยชน์ เต็มพิกัดใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนหลังเปิดเออีซี คาดเปิดขายพื้นที่ในปี 2562

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ในฐานะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้ทุกฝ่ายเร่งผลักดันในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้ครบ 5 แห่ง และเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ตามแผนงานให้เสร็จสิ้นในปีนี้ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนของไทยในอนาคต

นายวีรพงศ์กล่าวว่า ล่าสุด กนอ.ได้กำหนดพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมใน 5 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก และเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ตามที่ กนพ. และคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) กนอ.ได้ให้ความเห็นชอบจำนวน 6 แห่ง รวมพื้นที่ 6,600 ไร่ โดยได้กระจายการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่ตามแนวชายแดนประกอบด้วย 1.การจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก ที่ อ.แม่สอด พื้นที่ 1,421 ไร่ อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 ประมาณ 8 กิโลเมตร (กม.)

โดยใช้พื้นที่ 731 ไร่ เพื่อทำเป็นเขตอุตสาหกรรม ประเภทที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือน แปรรูปสินค้าเกษตร อัญมณีและเครื่องประดับ อีก 384 ไร่ เป็นศูนย์บริหารด้านการขนส่ง อีก 27 ไร่ เป็นเขตพาณิชยกรรม โดยเป็นพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 240 ไร่ และเป็นพื้นที่แนวกันชน 39 ไร่ เพื่อเชื่อมประตูการค้าไปยังประเทศพม่า สำหรับพื้นที่กันชน คือการกั้นแนวเขตระหว่างพื้นที่นิคมฯกับชุมชน ให้ห่างออกจากกัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหามลพิษหรือสิ่งแวดล้อมหากเกิดขึ้นในอนาคต

2.การจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศลาว โดยใช้พื้นที่ อ.เมือง จำนวน 1,085 ไร่ ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ประมาณ 21 กม. โดยจะใช้เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม 509 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยางพารา 227 ไร่ ใช้เป็นศูนย์บริการขนส่ง และกระจายสินค้าเขตพาณิชยกรรม 24 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค 267 ไร่ พื้นที่แนวกันชน 58 ไร่

3.การจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนไปยังประเทศมาเลเซีย โดยใช้พื้นที่ ที่ อ.สะเดา จำนวน 1,097 ไร่ ห่างจากชายแดนที่ด่านสะเดา 2 กม. ซึ่งจะใช้พื้นที่ 533 ไร่ เป็นเขตอุตสาหกรรม ประเภทอุตสาหกรรมยางพาราและอาหารฮาลาล และอีก 234 ไร่ เป็นศูนย์บริการขนส่งและกระจายสินค้า เป็นเขตพาณิชยกรรม 29 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 231 ไร่ พื้นที่กันชน 70 ไร่ 4. นิคมฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด เพื่อเป็นด่านหน้าส่งออกสินค้าไปยังประเทศกัมพูชา โดยใช้พื้นที่ อ.คลองใหญ่ จำนวน 411 ไร่ ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก 30 กม. จะใช้พื้นที่ 268 ไร่ เป็นศูนย์เปลี่ยนสินค้าและยานพาหนะ คลังสินค้า และใช้พื้นที่ 107 ไร่ เป็นพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค พื้นที่กันชน 36 ไร่

5.นิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว เพื่อเชื่อมต่อสู่ตลาดส่งออก อีกด้านหนึ่งของกัมพูชา ที่ อ.อรัญประเทศ จำนวน 690 ไร่ ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก 4 กม. โดยใช้พื้นที่ 337 ไร่ เป็นเขตอุตสาหกรรม ประเภทแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พลังงานทดแทน

และอีก 164 ไร่ เป็นศูนย์กระจายสินค้าและใช้เป็นเขตพาณิชยกรรม 25 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค 132 ไร่ พื้นที่กันชน 30 ไร่ 6.นิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย ที่ อ.เมือง พื้นที่ 2,960 ไร่ อยู่ระหว่างทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

“ใน 5 พื้นที่แรก กนอ.จะต้องไปทำอีไอเอให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อเปิดขายพื้นที่ในปี 2562 ซึ่ง กนอ.จะเป็นผู้ลงทุนตั้งจัดตั้งนิคมฯดังกล่าวที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ส่วนนิคมฯที่เหลือจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ส่วนการเช่าพื้นที่ของเอกชน กนพ.ได้กำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ซึ่งให้สิทธิเอกชนในการเช่าพื้นที่สูงสุด 50 ปี และขยายระยะเวลาในการเช่าต่อได้อีก 49 ปี รวมสิทธิในการเช่ารวม 99 ปี”

นายวีรพงศ์กล่าวว่า ความพิเศษของนิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้กำหนดกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามที่ กนพ.มีมติเห็นชอบ 13 กลุ่ม ครอบคลุม 61 กิจการย่อย อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง การผลิตเครื่องเรือน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตพลาสติก การผลิตยา กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กิจการเป้าหมายที่จะให้ส่งเสริมการลงทุนใน 5 เขตข้างต้น ก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ กับศักยภาพ ข้อจำกัด และความต้องการของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ กิจการประเภทอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมายก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนได้ตามปกติ ซึ่งแม้ได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากิจการเป้าหมาย แต่ก็ได้สิทธิประโยชน์สูงกว่า การลงทุนในพื้นที่ทั่วไป

ล่าสุด เพื่อเป็นการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะกิจการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ที่ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูป กนอ.จึงได้ร่วมลงนามกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันพลาสติก เพื่อร่วมศึกษาพื้นที่เหมาะสมและรูปแบบดำเนินการ โดยได้พิจารณาพื้นที่ที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก และที่จังหวัดสระแก้วในเบื้องต้น

“เรื่องดังกล่าว เนื่องจากทุกฝ่ายได้เห็นตรงกันว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำเร็จรูป อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม ช้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ ที่จำหน่ายอยู่ตามแนวชายแดนเพื่อนบ้าน เป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากมีการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกต่างๆข้างต้น ก็จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งไปยังส่วนกลางได้อีกทางหนึ่ง ”



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.