“รายงานวันจันทร์”-เรียนเล่นผ่านกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ส้มบางมดสู่พิพิธภัณฑ์เด็ก 2
 


“รายงานวันจันทร์”-เรียนเล่นผ่านกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ส้มบางมดสู่พิพิธภัณฑ์เด็ก 2


“รายงานวันจันทร์”-เรียนเล่นผ่านกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียน ส้มบางมดสู่พิพิธภัณฑ์เด็ก 2

เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับครอบครัว หรือพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 2 ทุ่งครุ เพื่อต้อนรับวันเด็กที่ผ่านมา วันนั้นมีผู้ปกครองและเด็กเข้ามาเที่ยวชมกว่า 3,000 ราย!!!

ศูนย์การเรียนรู้สำหรับครอบครัว หรือพิพิธภัณฑ์เด็กทุ่งครุ ตั้งอยู่ภายในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ มี 2 อาคาร พื้นที่ 18,473.08 ตารางเมตร แนวคิดของศูนย์ฯต้องการให้เด็กและครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ด้วยกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ เด็กอายุ 6-12 ปี จากโรงเรียนและชุมชน เพราะคำว่า... “สมาชิกในครอบครัว” มิได้มีความหมายแค่คนบ้านเดียวกัน แต่รวมไปถึงคนที่แบ่งปันทุกข์สุขร่วมกันในชุมชนท้องถิ่นขนาดเล็กหรือระดับชาติที่นี่แบ่งแหล่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ตัวเรา โลกเรา และกรุงเทพ...มหานครแห่งความหลากหลาย แต่ละกิจกรรมแตกย่อยออกไปอีก เริ่มจากอาคาร 1 มีทั้งหมด 3 ชั้น

โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับจัดกิจกรรม ชั้นที่ 2 แบ่งเป็นโซน อาทิ โซนจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับตัวเราและประสาทสัมผัสทั้ง 5 ใช้วิธีการจัดแสดงจำลองแบบ 3 มิติ ฉายภาพ Silhouette เพื่อเปรียบเทียบสัดส่วนร่างกาย หุ่นจำลองโครงสร้าง DNA โซนกิจกรรมเน้นการสร้างสัมพันธ์กันของหมู่คณะ โดยจำลองสถานการณ์ผ่านเขาวงกต เพื่อเรียนรู้และให้ความสำคัญเรื่องการเข้าคิว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว และเข้าใจผู้อื่น

ชั้นที่ 3 เรียนรู้เกี่ยวกับโลกของเรา เช่น การแสดงการกำเนิดของโลก ทวีป และการเปลี่ยนแปลงจากภัยพิบัติของโลกยุคดึกดำบรรพ์ผ่านแบบจำลอง และอวกาศ การแสดงเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร คมนาคม ที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงเรียนรู้ถึงภัยพิบัติต่างๆ และแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ส่วนอาคาร 2 กรุงเทพ...มหานครแห่งการเรียนรู้ จะเน้นกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเดิมเป็นสวนส้มที่มีชื่อเสียง นั่นคือ “ส้มบางมด” จากนั้นพื้นที่ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างไร ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การแก้ไข ตลอดจนการแสดงสังคมเมืองกรุงเทพมหานคร จากอดีตถึงปัจจุบันสู่อนาคต เป็นต้น

ทั้งนี้ การเรียนรู้หรือทำกิจกรรมของศูนย์ฯ ผ่านนิทรรศการต่างๆจะแตกต่างจากที่อื่น โดยเน้นการทำกิจกรรมของครอบครัวมากกว่าการปล่อยให้เด็กมาวิ่งเล่น หรือเรียนรู้ตามลำพัง คนที่มาเที่ยวชมส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ หลังจากทราบว่าที่นี่เปิดให้เข้าชมแล้ว ขณะนี้โรงเรียนในต่างจังหวัดหลายแห่งได้ติดต่อขอเข้าชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามาเป็นหมู่คณะ ทางโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะต้องส่งคนมาศึกษาเพื่อเรียนรู้กิจกรรมส่วนต่างๆล่วงหน้า เพื่อถ่ายทอดให้กับนักเรียนของตนเอง โดยศูนย์ฯจะมีอาสาสมัครคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรโรงเรียนนั้นๆ เพราะเชื่อว่าการมาเที่ยวชมศูนย์ฯไม่ได้มาแค่ครั้งเดียวอย่างแน่นอน ประกอบกับทางศูนย์ฯมีข้อจำกัดด้านกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัย ทุกคนจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าเที่ยวชม โดยจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตรวจความเรียบร้อยตลอดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิด ตามจุดต่างๆ โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ที่สำคัญเปิดให้เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น...



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.