“3จี-ทีวีดิจิตอล”สร้างรายได้เข้ารัฐแตะแสนล้าน
 


“3จี-ทีวีดิจิตอล”สร้างรายได้เข้ารัฐแตะแสนล้าน


“3จี-ทีวีดิจิตอล”สร้างรายได้เข้ารัฐแตะแสนล้าน
เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังถูกลดบทบาทจากการถูกปรับแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.)ซึ่งถือเป็น พ.ร.บ.หลักเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล

ต่าง จากเดิมที่ กสทช.มีบทบาทกำหนดนโยบายเองก็ต้องถูกเปลี่ยนมือมาเป็นคณะกรรมการเศรษฐกิจ ดิจิตอลเป็นผู้กำหนดแต่ กสทช.ยังคงหน้าที่ในการกำกับดูแลให้บริการเช่นดิม รวมถึงการยุบรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ให้เหลือเพียง กสทช.บอร์ดเดียวเท่านั้น

รวมถึงการโอนย้ายเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เข้ามาสู่กองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อใช้ขับเคลื่อน เศรษฐกิจดิจิตอล

ทว่าย้อนกลับไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมากสทช. ได้ดำเนินโครงการใหญ่ที่นำทรัพยากรของประเทศชาติมาสร้างรายได้โดยเริ่มการ ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ ประมูล 3จี ในช่วงปี 2555 สร้างรายได้เข้ารัฐมูลค่า 41,625 ล้านบาท โดย กสทช. ได้นำส่งไปแล้วจำนวน 2 งวดรวมเป็นเงิน 33,404.07 ล้านบาท และงวดที่ 3จะครบกำหนดส่งในเดือน ธ.ค. 58 อีกจำนวน 11,134.69 ล้านบาท

จากนั้น กสทช. ได้จัดประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องช่วงปลายปี 2556 ก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐจากการประมูลถึง 50,862 ล้านบาท โดยงวดแรกได้นำส่งรัฐแล้วจำนวน 11,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 นั้นได้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาการแจกคูปองล่าช้าโครงข่ายไม่ครอบคลุม การเมืองที่ส่งผลให้ธุรกิจทีวีดิจิตอลทรุดหนัก

ส่วนค่าใช้จ่ายเมื่อ ช่วงปีที่ผ่านมาการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องผ่านบอร์ด กสทช. ใหญ่ ที่มีจำนวน11 คน โดยในปี 2557 ได้รับอนุมัติจำนวน 5,457.21 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2556 ที่ได้รับอนุมัติจำนวน 3,513 ล้านบาทส่งผลให้ กสทช. ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การเดินทางไปต่างประเทศของ กสทช. ที่แพงหูฉี่ทำให้หลายภาคส่วนติงว่าไม่เหมาะสม

ดังนั้นงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2558 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จึงขอให้ความเห็นชอบจากอนุกรรมการพิจารณางบประมาณและคณะทำงานพิจารณากลั่น กรองงบประมาณฯ ที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อนุมัติกรอบวงเงินให้จำนวน 5,035.112 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการรายรับปี 2558 ที่คาดการณ์ไว้จำนวน 7,479.067 ล้านบาท ทำให้ กสทช. มีเงินส่งคืนรัฐจำนวน 2,443.955 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ส่วนงบบุคลากรของ กสทช. ที่มีอยู่ราว 1,400 คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 45 ล้านบาท/เดือน ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ

ด้านโครงการประมูล 4จี ย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. 58 เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ กสทช. ยังคงเดินหน้าเช่นเดิม สำนักงาน กสทช. ยังคงเดิมไม่ได้ถูกยุบแต่อย่างใด

ความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการ เศรษฐกิจดิจิตอล นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าว เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. เพื่อให้การทำงานตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลสามารถเดินหน้าต่อไปได้จึงต้องมี การตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลชั่วคราวจำนวน 32 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรวมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมทำงานคาดว่าจะ แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. นี้

จากนี้คงต้องติดตามความคืบหน้าในการทำหน้าที่ของ กสทช. กันต่อไป.

สุรัสวดี สิทธิยศ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.