‘อาชีวะแกนมัธยม’ ให้โอกาส สร้างอาชีพ
 


‘อาชีวะแกนมัธยม’ ให้โอกาส สร้างอาชีพ


‘อาชีวะแกนมัธยม’ ให้โอกาส สร้างอาชีพ
“พัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ให้มีความรู้และทักษะทั้งทางวิชาการและการอาชีพ ที่เป็นรากฐานของการพึ่งตนเอง พัฒนาท้องถิ่นได้ และให้สอนวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง” จากกระแสรับสั่งของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการสอนวิชาชีพแกนมัธยม” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กับ โรงเรียนมัธยมศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยนำหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไปสอนนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา

จากการติดตามดูงาน การจัดการเรียนการสอนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ (ม.พ.) อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ใกล้แนวตะเข็บชายแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  (สปป.ลาว) ทำให้ประจักษ์ชัด ว่า แนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ไม่เคยล้าสมัย แม้ว่าปัจจุบันการคมนาคมจะสะดวกขึ้น แต่ความเป็นถิ่นทุรกันดาร ห่างไกล และยากจนก็ยังคงมีอยู่ การนำโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพไปให้เด็กบนดอยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

รูปแบบการจัดการเรียนการสอน “วิชาชีพแกนมัธยม” ในโรงเรียน ม.พ.นั้น นักเรียนจะได้เรียนวิชาสายอาชีพ ตามหลักสูตร ปวช. ในวันจันทร์และวันอังคาร กับอาจารย์จากวิทยาลัยการอาชีพปัว (วก.ปัว) เรียนวิชาสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 กับครูของโรงเรียน ม.พ.ในวันพุธถึงวันศุกร์ และเมื่อจบชั้น ม.6 แล้วนักเรียนจะต้องมาลงทะเบียนเป็นนักศึกษาของ วก.ปัว อีก 1 ภาคเรียน เพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติมก่อนรับวุฒิ ปวช. ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีวุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ วุฒิ ม.6 และ ปวช. โดยปัจจุบันมีการเปิดสอนวิชาชีพแกนมัธยม ที่โรงเรียน ม.พ. ใน 3 สาขาวิชา คือ ช่างยนต์ ไฟฟ้ากำลัง และ บัญชี ซึ่งนักเรียนชั้น ม.ปลายของโรงเรียนนี้ เลือกวิชาชีพ 44 คน จากทั้งหมด 263 คน

“บีม” นายพงษ์ศักดิ์ สุทธิโวหาร นักเรียน ชั้น ม.5 โรงเรียน ม.พ. บอกความตั้งใจว่า เลือกเรียนต่อสายอาชีพในสาขาช่างยนต์ เพราะอยากเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่บ้าน แต่การเดินทางที่ลำบากและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเรียนในตัวเมืองได้ หากวิทยาลัยการอาชีพปัวไม่มาเปิดโครงการสอนวิชาชีพแกนมัธยมที่นี่ ตนก็คงไม่ได้เรียนสายช่าง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสแน่นอน และเท่าที่คุยกับรุ่นน้องก็มีหลายคนสนใจอยากเรียนสายช่างเช่นเดียวกับตน จึงอยากให้มีการสอนอาชีวะในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการเลือกเรียนของเด็ก นายอดิศักดิ์ ไชยอ้าย รักษาการ ผอ.โรงเรียน ม.พ. บอกว่า ทางโรงเรียนจะให้นักเรียนเลือกตั้งแต่ก่อนจบชั้น ม.3 ว่า จะเรียนต่อชั้น ม.4 จะเรียนสายสามัญ หรือสายอาชีพ ซึ่งโรงเรียนมีนโยบายประชาสัมพันธ์จุดดีของการเรียนสายอาชีพมากขึ้น และในปีการศึกษา 2558 ถ้าใครอยากเรียนสายอาชีพ ก็จะให้เริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ม. 2 ถึง ม.6 เลย โดยไม่ต้องรอไปเรียนในชั้น ม.4 และจะทำอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เคยหยุดมาในปี 2556

อาจารย์คธาวุฒิ รักษ์รงค์ แผนกช่างยนต์ วก.ปัว ยืนยันถึงมาตรฐานการสอน ว่า ได้เดินทางขึ้นมาสอนบนดอยจนเด็กเรียนจบและได้รับวุฒิ ปวช. ไป 2-3 รุ่นแล้ว ซึ่งการสอนเด็กกลุ่มนี้จะเน้นให้ฝึกปฏิบัติงานด้านช่างเพื่อนำไปใช้งานได้จริง ๆ ไม่เน้นเรียนทฤษฎีมาก เพราะจะทำให้เด็กเบื่อและปฏิบัติงานได้ไม่เก่ง ซึ่งยืนยันได้ว่าคุณภาพของเด็กที่ได้รับวุฒิ ปวช. ทั้งที่เรียนในโรงเรียนมัธยมฯ และเรียนที่วิทยาลัยการอาชีพปัว มีมาตรฐานเดียวกัน ครูสอนเหมือนกัน แต่เด็กบนดอยต้องใช้เวลามากกว่าเนื่องจากสภาพความพร้อมด้านเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่น้อยกว่า ซึ่งในวันเสาร์วิทยาลัยก็ได้มาเปิดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือฟิกอิทเซ็นเตอร์ เพื่อให้ชาวบ้านนำรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้ามาซ่อม และให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อเสริมเติมเต็มส่วนที่ยังขาดอยู่และเรียนรู้ในห้องเรียนได้ไม่ครบ

ความยั่งยืนและอนาคตของการจัดอาชีวศึกษาบนพื้นที่สูงนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการจัดการเรียนการสอน ได้คุยกับผู้ปกครอง และนักเรียน พบว่า เด็ก ๆ บนพื้นที่สูงต้องการเรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ เมื่อเรียนจบก็อยากได้รับวุฒิ ม.6 กับ ปวช. ทันที โดยไม่ต้องไปลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพปัวอีก 1 ภาคเรียนเหมือนปัจจุบัน ประกอบกับเมืองหงสา ของ สปป.ลาว มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งต้องการช่างฝีมือจำนวนมาก และเราต้องเตรียมตัวรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

“สอศ.จะมีการทำ “แผนยุทธศาสตร์จัดการศึกษาบนพื้นที่สูง” รวมถึงทำ “การวิจัยรูปแบบการจัดอาชีวศึกษาบนพื้นที่สูง” โดยมีประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดน่าน เป็นประธาน เริ่มจากการทำประชาคมมาหารือร่วมกันระหว่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู ผู้บริหาร โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ว่า จะจัดการศึกษาสายสามัญต่อสายอาชีพในสัดส่วนเท่าไหร่ และอาชีพอะไรที่จะตอบสนองความต้องการของพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการมีข้อมูลและรูปแบบที่ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโรงเรียน วิทยาลัย และชุมชน ที่สำคัญ คือ ตัวผู้เรียนเอง ที่เรียนจบแล้วจะมีอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้แน่นอน”

 นี่เป็นเพียง 1 ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทำให้การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง. 

ณัชชารีย์ วิเชียรรัตน์                                   



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.