หนุน หญิงไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยอินเทอร์เน็ต
 


หนุน หญิงไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยอินเทอร์เน็ต


หนุน หญิงไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยอินเทอร์เน็ต

กระทรวงแรงงานจับมือ สสส. และพันธมิตรเปิดโครงการ Woman will : เธอทำได้ด้วยอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมศักยภาพ หญิงไทย ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งเป้า 1 ล้านคน...

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 57 ที่ศูนย์สร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน น.ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. น.ส.พรทิพย์ กองชุน หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท กูเกิล ประเทศไทย และนายวรภัทร ภัทรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ประเทศไทย และฝ่ายส่งเสริมนโยบายการสื่อสารประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดโครงการ "Woman will : เธอทำได้ด้วยอินเทอร์เน็ต" เพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรีไทยในพื้นที่ชนบทกว่า 1 ล้านคน และเพิ่มคุณภาพชีวิตด้วยการเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์บนอินเทอร์เน็ต

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกลุ่มแรงงานไทยผู้หญิง ประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งถึงแม้ว่ากระทรวงจะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตแล้ว ตลอดจนการฝึกอาชีพ แต่ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการพัฒนา และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ก็จะสามารถส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานได้มากขึ้น และหากมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยประสาน จากการฝึกอบรมผ่านวิทยาที่อาจจะได้เพียงปีละแสนคน อาจเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือได้ถึงล้านคน และเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งหากกลุ่มแรงงานสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยเปิดโลก และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้


5 สาวที่ชีวิตพลิกเพราะอินเทอร์เน็ต และร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในงาน Woman Will

ด้าน นายวรภัทร ระบุว่า อินเทล พบตัวเลขจากงานวิจัยของสหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษานั้น คือ ผู้หญิง และหากผู้หญิงทุกๆ 10% เข้าสู่ระบบการศึกษา จะช่วยให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3% และรายได้ของผู้หญิงนั้นจะนำไปลงทุนกับครอบครัวถึง 90% ขณะเดียวกัน ยังพบว่าผู้หญิงยังไม่ค่อยสนใจเรียนเรื่องเทคโนโลยีเท่าใด ซึ่งหากผู้หญิงสนใจมากขึ้น หรือเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ในอินเทอร์เน็ต ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นเดียวกับ น.ส.พรทิพย์ กล่าวว่า กูเกิลและพันธมิตร ตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกัน ก็ให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับทักษะที่จำเป็น ทั้งอาชีพ สุขภาพ การทำงาน นอกจากนี้ ต้องการส่งเสริมชุมชนออนไลน์ของผู้หญิงให้เข้มแข็งด้วย

นอกจากนี้ น.ส.สุวิมล พวงสุยะ ครูสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่มีแขนทั้ง 2 ข้าง กล่าวว่า อยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยอุปสรรคทางร่างกาย ทำให้ต้องต่อสู้กับการรับรองคุณสมบัติของการเป็นครู ซึ่งตนเองนั้นได้อินเทอร์เน็ตในการสร้างความรู้และศึกษา จนได้เป็นครูคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เชื่อมาตลอดว่า อินเทอร์เน็ตคือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แม้แต่กับคนด้อยโอกาส ที่สร้างสามารถสร้างโอกาสของตัวเองให้ทัดเทียมได้ รวมถึงยังสามารถส่งต่อความรู้ให้คนอื่นได้อีกด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.