สวรส.หนุนวิจัยระบบยา หวังสร้างระบบตรวจสอบลดคอร์รัปชัน
 


สวรส.หนุนวิจัยระบบยา หวังสร้างระบบตรวจสอบลดคอร์รัปชัน


สวรส.หนุนวิจัยระบบยา หวังสร้างระบบตรวจสอบลดคอร์รัปชัน

สวรส. ระดมนักวิชาการสังเคราะห์กลไกระบบยา หวังอุดช่องโหว่ ลดคอร์รัปชันระหว่างทาง และเสริมสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ในระบบยาของประเทศ...


ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการจัดการปัญหาการคอร์รัปชันภายใน กสธ. และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล และเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหายาและวัสดุต่างๆ ขึ้นมาดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างยา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธาน และมีคณะกรรมการเป็นผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับ รวมถึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และเตรียมความพร้อมกับการตรวจสอบทั้งจากองค์กรภายในและภายนอก เพื่อความโปร่งใสนั้น

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เปิดเผยในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า กลไกระบบยาของประเทศนับเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบสุขภาพที่มีการใช้งบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลงานวิจัยเรื่องกลยุทธ์การกำหนดและควบคุมราคา : ก่อนขาย (หลังขึ้นทะเบียนยา) เมื่อคัดเลือกเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติและโดยผู้จ่ายค่ายารายใหญ่ของ รศ.ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ พบว่า มูลค่ายาเพื่อการบริโภคตามราคาใน price list สูงถึง 138,482,077,858.00 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เป็นผลมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาเกินความจำเป็นโดยเฉพาะยาที่มีราคาสูง ปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ หรือแม้แต่การรั่วไหลของยาบางประเภทออกนอกระบบ จนทำให้เป็นช่องโหว่ของระบบสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณจำนวนมาก

“สวรส. จึงได้ระดมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องธรรมาภิบาลและการอภิบาลระบบต่างๆ มาช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการเสริมสร้างการอภิบาลระบบยาของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อยา ระหว่างนี้ สวรส. ได้เร่งดำเนินงานวิจัยเรื่องการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างการอภิบาลระบบยา ซึ่งจะเป็นงานวิชาการที่สำคัญในการสะท้อนช่องว่างปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการระบบยาของประเทศต่อไป โดยทำการศึกษาในมิติต่างๆ อาทิ เรื่องระเบียบ มาตรฐานขั้นตอนการทำงานที่ส่งผลต่อโครงสร้างการบริหารยาทั้งระบบ การศึกษาองค์กรที่มีบทบาทในการกำกับดูแลระบบการบริหารจัดการยาและการกำหนดนโยบายระบบยาของประเทศ กลไกการตรวจสอบความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบยา ศึกษากระบวนการบริหารจัดการยาจากกรณีศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น”

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิจัย นำโดย รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย จากสถาบันพระปกเกล้า และ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำหลักธรรมาภิบาล (Governance) มาใช้ในการศึกษาตลอดจนการสังเคราะห์ข้อมูลที่เน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมเข้ามาร่วมพิจารณาและสร้างแนวทางการบริหารจัดการอย่างสร้างสรรค์และเห็นพ้องต้องกัน ตลอดจนการเปิดโอกาสสำหรับทางเลือกในการบริหารงานที่กว้างขวางขึ้นไปกว่าการเน้นเฉพาะบทบาทของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้เราเห็นข้อมูลระบบการบริหารจัดการยาทั้งวงจรในปัจจุบัน ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และจัดลำดับความเสี่ยงในระบบการบริหารจัดการยา รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายที่สะท้อนกับความเป็นจริงในระดับปฏิบัติได้ ซึ่งงานวิจัยจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดเผยผลการวิจัยได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.