เวทีเสวนาเขตแดนทางทะเล ยัน"เกาะกูด" ของไทย ซัด "การเมือง" ทำเสียสัมพันธ์เพื่อนบ้าน
 


เวทีเสวนาเขตแดนทางทะเล ยัน"เกาะกูด" ของไทย ซัด "การเมือง" ทำเสียสัมพันธ์เพื่อนบ้าน


 เวทีเสวนาเขตแดนทางทะเล ยัน
รับชมข่าว VDO -->

 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดอภิปราย "เขตแดนทางทะเลของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน : ปัญหาและทางออกของอาเซียน" ร่วมเสวนาโดย อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ดร.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ อาจารย์พิมพ์ประไพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ และนายอดิศักดิ์ ศรีสม นำอภิปรายและดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นเขตแดน เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่มักถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนทันที สำหรับประเด็นเขตแดนทางทะเล มีความซับซ้อนกว่าเขตแดนทางบก ประเด็นดังกล่าวมีการพูดคุยกันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงทุกวันนี้ ยังหาข้อสรุปบางประเด็นไม่ได้
  
ดร.มรกต กล่าวว่า ความร่วมมือทางทะเลอาเซียนและทรัพยากรทางทะเลในอาเซียน เขตแดนในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ สำคัญมาก เพราะมีน้ำมันดิบจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเส้นทางการค้า ค่อนข้างมาก ประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อน จึงเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ ที่รอการตกลง ไม่เช่นนั้น จะคล้ายการเริ่มต้นความขัดแย้งเหมือนตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1  

สำหรับกรณีการอ้างสิทธิ์  4.6 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทยกับกัมพูชา อาจจะกลายเป็นประเด็นเล็ก หากเทียบกับเขตแดนทางทะเลอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ซึ่งอาเซียนเพิ่งให้ความสนใจ ถือว่าสนใจช้ามาก นอกจากนั้นยังเน้น แต่ในมุมความมั่นคงและการทหาร  เช่น การลุกล้ำน่านน้ำ  ขณะที่ อียู  เน้นพัฒนาเศรษฐกิจและรักษาสภาพแวดล้อมพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน 
 
ดร.มรกตกล่าวด้วยว่ากลไกในอาเซียนไม่ประสบความสำเร็จเพราะครอบงำด้วยผู้นำประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่เกิดระบบที่หลายกลุ่มมารวมกันได้ส่วนการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชานั้นประชาชน น่าจะมีความรู้ในการจัดการความขัดแย้งหลายด้าน มีทางเลือกหลายทางเลือก แทนที่จะปล่อยให้การจัดการเขตแดนซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ถูกนำมาเป็นเรื่องการเมือง 

อาจารย์อัครพงษ์  กล่าวว่า ข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลในอาเซียนส่วนใหญ่พิพาทเรื่องทรัพยากร โดยต่างฝ่ายต้องการตีความอาณาเขตกว้างพอจะครอบคลุมผลประโยชน์ทางทะเล เช่น บ่อน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการอ้างสิทธิในเขตแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน  เมื่อถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง บางครั้ง ก็เป็นไปเพื่อแสดงบทบาทให้ตัวเองมีผลงานเพื่อชาติ การอ้างสิทธิทั้งหลายเพื่อความดีความชอบเป็นเกียรติประวัติ ทั้งเพื่อส่วนตัวและส่วนรวม ทั้งที่การอยู่ร่วมกันหลายประเทศ ต้องมอง ในแง่ภูมิภาค ไม่ใช่รัฐชาติอย่างเดียว แม้รัฐชาติ มีความสำคัญจริง แต่อยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องพึ่งพิงอย่างหลากหลายกว้างขวาง กรณีทะเลจีนใต้ มีคนเสนอทางออกให้ตั้งบริษัทร่วมกัน ของรัฐชายฝั่งทั้ง 6 ประเทศที่เป็นคู่พิพาท ให้รัฐและเอกชนมาร่วมทุนเพื่อแสวงหาประโยชนร่วมกัน เอากำไรมาใช้กิจการสาธารณะทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม บางสายนำรายได้มาทำเป็นคอนโดมีเนียมที่อยู่อาศัย
 
อาจารย์อัครพงษ์ กล่าวว่า ขอเสนอให้เรียกทะเลจีนใต้ใหม่ว่า ทะเลกลางอาเซียน (mid asean sea) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นยุติข้อพิพาทในการ อ้างชื่อของแต่ละประเทศ 

อาจารย์พิมประไพ กล่าวว่า การแบ่งเขตแดนทางทะเล มีกฎหมายทะเล เป็นตัวชี้วัด ซึ่งก่อนปี 1958 เรามีกฎหมายทะเล แต่เป็นจารีตประเพณี ที่ยึดถือปฏิบัติ เป็นเวลานาน ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในปี 1945 ประธานาธิบดี ทรูแมน (แฮร์รี่ เอส. ทรูแมน) มีคำประกาศเกี่ยวกับไหล่ทวีป ตอนนั้นเป็นยุคที่เริ่มมีการแสวงหาประโยชน์ในท้องทะเล ในส่วนทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต ซึ่งประเทศใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยี ในการขุดเจาะสำรวจ ก็เริ่มประกาศทางปฏิบัติของตนเอง จนจะไปละเมิดสิทธิรัฐอื่น ๆ ทำให้ต้องมีการเจรจาพูดคุย จึงเริ่มมีกฎหมายว่าด้วยทะเลครั้งแรกของประชาชาติ คือ อนุสัญญาเจนีวา ในปี 1958 แต่ข้อด้อยคือ ยังมีความหมายคลุมเครืออยู่ในคำนิยาม 
 
พัฒนาการต่อมาเกิด unclos1982 มีลักษณะเป็นตัวบท ซึ่งอาจารย์กวีพล ให้ไอเดียว่า ถือเป็นรัฐธรรมนูญกฎหมายทางทะเล โดยเพิ่มหมวดหมู่ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคี ให้สัตยาบัน 14 มิถุนายน  2554 เมื่อได้เข้าร่วมก็มีการประกาศอาณาเขตทางทะเล 

อาจารย์พนัส กล่าวว่า สำหรับกรณีแผนที่และเขตแดน ในแง่กฎหมายเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ โดยทั่วไปก็จะต้องอ้างให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น กัมพูชา อ้างสิทธิ เกาะกูด ทั้งที่เกาะกูดเป็นของไทย

สำหรับการใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อมีปัญหาการอ้างสิทธิ ก็ต้องเจรจาโดยสันติวิธี จากโบราณใช้วิธีการรบกัน แต่ตอนนี้ เราไม่ยอมรับการใช้สงครามยุติปัญหาระหว่างประเทศ  เช่น พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ในเขตแดนทางทะเล คู่กรณีต้องหาทางเจรจาตกลงกันให้ได้ ซึ่งการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน  ถึงแม้เราไม่มีศาลอาเซียน แต่เรามีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ถ้ามีข้อพิพาท ก็สามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมพิจารณาได้ แต่เรายังไม่เคยใช้กลไกนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา ทั้งที่กลไกนี้เกิดจากความคาดหวังว่าในอนาคต จะเป็นการแก้ไขปัญหาขั้นสุดท้ายให้ได้  เพราะในอาเซียน แตกต่างจากการแก้ปัญหาของชาติตะวันตก เนื่องจากคนเอเชียไม่ต้องการไปขึ้นศาล ฉะนั้น ต้องหากลไกระงับข้อพิพาท โดยไม่ต้องไปเป็นความในศาล

สำหรับเรื่องเขตแดนทั้งทางทะเลและทางบก มักจะเกิดปัญหาเนื่องจาก “การเมือง” โดยเฉพาะไทยกับกัมพูชา เพราะมีเรื่องชาตินิยมจากรัฐบาลของทั้ง 2 ข้าง อย่างในกัมพูชา ก็มีปัญหากับพรรคการเมืองฝ่ายค้านค่อนข้างมาก เรื่องเขตแดนจะถูกหยิบขึ้นมาโจมตีกันในการเมืองภายในประเทศ สำหรับทางออกขึ้นอยู่กับ ทั้ง 2 ประเทศ จะเคลียร์ปัญหาภายใน ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเคลียร์ได้ก็ตกลงกันได้ โดยเฉพาะ การผูกพันตัวเองกับกฎหมายทางทะเลแล้ว กฎหมายก็ต้องบังคับ ถ้าเบี้ยวก็ถูกชุมชนนานาชาติประนาม 

ขณะที่เราไม่ค่อยมีปัญหาทางการเมืองกับมาเลเซียเท่าไหร่แม้จะมีปัญหา3จังหวัดชายแดนใต้แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ชัดเจนว่าไม่ได้สนับสนุนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเพราะถ้าแบ่งแยกได้จริงดินแดนของเขาก็จะถูกแบ่งแยกไปด้วย 
ฉะนั้น ไทย มาเลเซียจึงมีปัญหาน้อยมากและการตกลงเรื่องเขตแดน ก็มีแนวเขตที่ชัดเจน มีชุมชนอยู่ การปักปันเขตแดนก็ทำได้ง่าย 
…………………..

วันเดียวกัน ในช่วงบ่ายมีการอภิปราย  "การปักปันเขตแดนทางทะเล กับแนวทางแก้ไขและระงับข้อพิพาท"  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พลเรือตรีจุมพล ลุมพิกานนท์ กองทัพเรือ  รศ.ดร.ศรุต สกุลรัตน์ ศูนย์อินโดจีนศึกษา  มหาวิทยาลัยบูรพา   อาจารย์กวีพล สว่างแผ้ว มหาวิทยาลัยบูรพา นายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ กระทรวงการต่างประเทศ และ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นำอภิปรายและดำเนินรายการ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า  ข้อพิพาทเขตแดน ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทะเล เป็นปัญหาของรัฐโบราณกับรัฐสมัยใหม่ เวลาพูดถึงรัฐสมัยใหม่ เราก็จะบอกว่า รัฐสมัยใหม่เริ่มต้นจาก 1) มีเส้นเขตแดนที่แน่นอน 2)มีประชากรที่แน่นอน 3) มีรัฐบาล 4) มีอำนาจอธิปไตย  แต่การบอกว่ามีเส้นเขตแดนที่แน่นอน เราเริ่มมีเมื่อไหร่ เพราะอยุธยาไม่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอนกับเพื่อนบ้านแน่ๆ  ปัญหาคือ เราใช้อดีตในการอ้างว่าเราครอบคลุมดินแดนต่างๆ มากมาย และสูญเสียดินแดนไป การอ้างว่าเราสูญเสียดินแดนในอดีต เป็นไปโดยที่อดีตไม่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอน
 
สำหรับข้อพิพาทเขตแดนทางทะเล เริ่มจากการหาปลา ต่อมาเป็นเรื่องการหาก๊าซ ซึ่งในเอกสารของพลเรือเอกถนอม เจริญลาภ กล่าวถึงการตกลงผลประโยชน์ทางทะเลไทย-มาเลเซีย ว่า เดิมก๊าซไม่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่จะพัฒนา ไม่มีใครอยากได้ก๊าซ ขณะที่พื้นที่ข้อพิพาทเต็มไปด้วยก๊าซ ในช่วงก่อน 2520 แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการคือน้ำมัน  ต่อมารัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ บอกให้แบ่งผลประโยชน์ 50:50 ต่อมาไทยได้รับผลประโยชน์จากก๊าซอย่างมโหฬาร ผลมาจาก เกาะโรซิน  ซึ่งมีข้อถกเถียงโดยฝ่ายมาเลเซีย บอกว่าโรซินเป็นก้อนหิน แต่ฝ่ายไทยบอกเป็นเกาะ เมื่อมาเลเซียตกลงตามไทย ทำให้ต้องแบ่งส่วนแบ่งให้ไทย 50:50  
 
พลเรือตรีจุมพล ผู้อำนวยการศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กล่าวว่า เขตแดนทางทะเลมีความสำคัญ เพราะบ่งบอกอำนาจอธิปไตยในฐานะรัฐชายฝั่ง ขณะที่ คนไทยเป็นคนบก แม้จะมีจังหวัดติดทะเล 23 จังหวัด รวมทั้ง กทม. ด้วย  แต่คนไทยรู้หรือไม่เรามีฐานขุดเจาะ 334 ฐานแท่น ที่ดูแลคนไทย ดังนั้น อยากให้คำนึงว่า ทะเล คือความอยู่รอดของประเทศชาติ และการปกป้อง ทะเลได้ตามสิทธิของเราจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีขีดพลังอำนาจพอ การได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยประชาชน เป็นผู้ผลักดัน จึงมีความสำคัญในส่วนนี้ 

อาจารย์กวีพล กล่าวว่า เขต หรือเขตแดน เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติขึ้นมา แต่ไม่ได้สมมุติขึ้นมาลอยๆ เพราะมีหลักฐานองค์ประกอบต่างๆ สำหรับเขตแดนทางทะเล เริ่มตั้งแต่สมัยโรมัน มีการประกาศครอบครองทะเลของชาวโรมัน  อย่างไรก็ตาม เรื่องเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้จะเป็นเส้นสมมุติแต่อยากให้เรา หาข้อมูลให้ครบทุกด้าน ก่อนที่เราจะคิดว่า ได้หรือเสียดินแดนอะไร แล้วอีกอย่าง คือ อยากให้เรามีทัศนคติว่า เราไม่ได้เป็นชาติเดียวในโลก แต่เราจะต้องอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคนี้และในโลกนี้

นายทรงชัย กล่าวว่า ตนมาจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย งานกฎหมายหลายด้านหนึ่งในนั้นคือเขตแดนและเขตทางทะเล ซึ่งต้องทำเรื่องข้อพิพาทเขตแดนที่ยังไม่ระงับ มีหน้าที่ทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยความยินดีปรีดา  สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ใช้ทั่วโลก เวลามีเขตแดนหรือเขตทางทะเลติดกับประเทศอื่น เราทำเขตเองไม่ได้ฝ่ายเดียว 

แม้จะอ้างสิทธิได้ ประกาศได้ตามความเชื่อ  แต่ก็จะต้องถูกทดสอบโดยอะไรบางอย่าง เช่น การอ้างสิทธิซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทดสอบโดย คู่กรณีเอาไปขึ้นศาลระหว่างประเทศ เช่น กรณีปราสาทพระวิหาร 

“กฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องเขตแดน จะทำฝ่ายเดียวไม่ได้ แม้จะมั่นใจในท่าทีตนเองแค่ไหนก็ตาม อย่าถือว่าท่าทีนั้นแน่เสมอไป เพราะสิ่งที่ท่านเชื่อจะถูกทดสอบโดยกฎหมายระหว่างประเทศ” 
 
นายทรงชัย กล่าวว่า  การเจรจาในเขตแดนที่ยังไม่ระงับในบรรยากาศที่มีความยินดีปรีดาระหว่างกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องเจรจาตามสิทธิที่ไทยพึงมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ เราไม่ได้อยากจะได้ ที่มากไปกว่านี้ แต่เราก็ไม่อยากเสียสิทธิให้มากไปกว่านี้ ฉะนั้น วิญญาณการเจรจาของผู้เจรจาคือ การรักษาสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และแน่นอนเรื่องเขตแดน เหมือนเรื่องไก่เกิดก่อนไข่ ในเรื่องความสัมพันระหว่างประเทศ บางคนบอกว่า ถ้ามีปัญหาเขตแดน ก็จะมีปัญหาความสัมพันระหว่างประเทศตามมา แต่บางครั้งพอ มีปัญหาความสัมพันระหว่างประเทศ จึงมีปัญหาเขตแดนตามมาก็มี แล้วมีกลุ่มกรอบทางการทูต หรือกลุ่มเจรจาเขตแดน บางครั้ง ไปเจรจา เพื่อให้มีปล่องไม่ให้น้ำเดือด ส่วนจะเจรจาสำเร็จหรือไม่เพียงใด ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องหวังผลสำเร็จอยู่แล้ว โดยวัตถุประสงค์ของงานเจรจร คือดำรงการเจรจาไว้ให้ได้ โดยที่ไม่ต้องรบกัน     

รศ.ดร.ศรุต กล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศ มีความคล้ายกับกฎหมายภายในประเทศ ว่ากันว่า กฎหมายภายในประเทศมีไว้ใช้กับคนจน คุกมีสำหรับคนจน ส่วนกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คล้ายๆ กัน คือ มีไว้บังคับประเทศเล็กๆ พอต้องเผชิญประเทศมหาอำนาจ กฎหมายก็ลำบากเหมือนกัน นี่เป็นข้อคิดว่า กฎหมายทางทะเล หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง
 
วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดก็คือการเจรจา แต่การเจรจาต้องอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างดีพอสมควร ไม่ใช่การเจรจาบนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งการเจรจาบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือการโต้ตอบกัน ไม่มีทางยุติได้ แต่จะกระตุ้นให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าชาตินิยม และใครที่ทำอะไรที่เกินขอบเขตการเสียตารางนิ้วเดียวไม่ได้ ก็จะถูกประนามว่าขายชาติ  คือเวลามีการเจรจาอะไรที่ไม่ตรงกับที่ตัวเองคิดก็หาว่าคนอื่นขายชาติ เพราะฉะนั้น การเจรจาต้องมีบรรยากาศที่ดี    

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งร่วมฟังอภิปรายได้กล่าวแสเงความคิดเห็นว่า เรื่องเขตแดนทางทะเล จะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาประเด็นนี้ เยอะมาก ทั้งในยุโรปและเอเชีย หลายแห่งมีการวิจัยโดยใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้น งานวันนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดีมากๆ อย่างไรก็ตาม อยากเน้นประเด็นเรื่องเกาะกูดว่า เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน เพราะมีสนธิสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม กับ ฝรั่งเศส 23 มีนาคม รศ. 122 อันนี้คือปี 1907 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ข้อที่1  บอกว่า รัฐบาลสยาม ยอมยกดินแดนพระตะบอง เมืองเสียมราฐ เมืองศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ข้อที่ 2 บอกว่ารัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนไปถึงเกาะกูด ให้แก่กรุงสยาม ประเด็นนี้ชัดเจน ไม่ต้องไปลือ อะไรที่ทำให้กระทบความสัมพันระหว่างประเทศ
 
สำหรับ MOU 2543 เรื่องเขตแดนทางบก (14 มิถุนายน 2543) กับ MOU 2544 เรื่องเขตแดนทางทะเล (18 มิถุนายน 2544) ทั้ง 2 MOU เกิดขึ้น ห่างกันเพียงประมาณ 1 ปี (เปลี่ยนรัฐบาล จากประชาธิปัตย์ เป็น ไทยรักไทย)  โดย MOU 2543 ลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น  กับฝ่ายกัมพูชา ส่วน MOU 2544 ลงนามโดย นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น  ห่างกัน 1 ปี  ถ้าดูตามเวลา จะเห็นได้และน่าเชื่อว่า นี่เป็นผลงานของข้าราชการประจำ ที่เจรจาให้ทุกอย่างลุล่วง และข้าราชการการเมือง ก็เป็นผู้ลงนามได้ชื่อได้เสียงไป ส่วนข้าราชการประจำก็เหมือนปิดทองหลังพระ

ทั้ง MOU 2543 และ MOU  2544 อยู่ในบรรยากาศดีมากๆ เมื่อกัมพูชาและไทยเป็นมิตรกันอย่างดี แต่ทั้ง 2 สิ่งนี้ถูกนำมาใช้ ทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  จึงกลายเป็นว่า MOU 2544 ฉบับนายสุรเกียรติ กลายเป็นปัญหาใหญ่ ว่ามีการหมกเม็ดหรือมีผลประโยชน์ ทำให้รัฐบาลนายสมัคร นายสมชาย ล้มไปด้วยตุลาการภิวัฒน์ เมื่อ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นขึ้นมา ก็มายกเลิกใช้ MOU แต่ไม่เอาเข้าสภา คือเป็นยกเลิกทางการเมือง ทั้งที่ ทั้ง 2 MOU เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันระหว่างประเทศ ดังนั้น ก็เหมือนกับที่ข้าราชการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า เรื่องเขตแดนระหว่างประเทศ เป็นเรื่องเทคนิค ต้องเจรจา เพราะทันทีที่เอามาเป็นการเมือง บ้านเมืองก็ฉิบหาย อย่างที่เราเห็นปัจจุบัน 
ฉะนั้นเอกสารเหล่านี้ ต้องอ่าน อย่าไปปล่อยข่าวลืออย่างเกาะกูด ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นของไทย

ฟ้ารุ่ง ศรีขาว รายงาน

*ติดตามชมคลิป การลงพื้นที่จังหวัดตราด ดู หลักเขตแดนที่ 73 บริเวณ ด่าน ตม.กัมพูชา-ไทย ระหว่าง บ้านจามเยียม เขตเกาะกง และ บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ก่อนจะลงเรือแวะเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด  ชมน้ำตกคลองเจ้า และรอยสลักพระปรมาภิไธย ของรัชกาลที่ 5  บนหินขนาดใหญ่ ติดตามทางมติชนออนไลน์เร็วๆ นี้ 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.