ชวนชมงานศิลปะ แห่งสถาปัตยกรรม "เขียว"
 


ชวนชมงานศิลปะ แห่งสถาปัตยกรรม "เขียว"


 ชวนชมงานศิลปะ แห่งสถาปัตยกรรม
รับชมข่าว VDO -->

โดย ชมพูนุท ทับทิมชัย





ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ สถาปัตยกรรม "เขียว" ผลผลิตที่เกิดจากกระแสความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยมีรากฐานมาจากสถาปัตยกรรมยั่งยืนได้ถือกำเนิดขึ้น

แต่แน่นอนว่าย่อมต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากทีเดียว

ลองแวะขึ้นไปชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะพบกับนิทรรศการ "ฟอสเตอร์แอนด์พาร์ทเนอร์ : ศิลปะแห่งสถาปัตยกรรม" ที่จัดแสดงผลงานการออกแบบอาคารสูงระฟ้า การออกแบบชุมชนเมือง ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการทำงานอันโดดเด่นของบริษัท

กระบวนการออกแบบเชิงบูรณาการที่สถาปนิกและวิศวกรร่วมมือกันกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา ทั้งผู้เชี่ยวชาญออกแบบสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน การวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและรูปทรงเลขาคณิต และการนำเครื่องมือแปลกใหม่มาใช้ในการออกแบบ

โทบี้ บลันท์ สถาปนิกและพาร์ทเนอร์จากฟอสเตอร์แอนด์พาร์ทเนอร์ ได้อธิบายว่าความยั่งยืนนั้น หมายถึง การอยู่ร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะคุณภาพของสิ่งแวดล้อมจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราโดยตรง

"หลักการของสถาปัตยกรรมยั่งยืนนั้น คือ การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอาคารและระบบนิเวศ พิจารณาถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในการออกแบบและก่อสร้างอาคาร การรักษาสภาพที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ดินให้มากที่สุด



"หลักที่สอง คือ คำนึงเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการออกแบบอาคารตามสภาพแวดล้อม รวมทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์อาคารที่มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้วัสดุประกอบอาคารเพื่อคุณภาพชีวิตคนและระบบนิเวศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับแนวคิดการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษาอาคาร" โทบี้อธิบาย

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องสุขอนามัยของผู้ใช้อาคารอันเนื่องมาจากการใช้วัสดุประกอบอาคารด้วย

เพราะการบริหารจัดการอาคารและทรัพยากรในอาคารต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการใช้งานและดูแลรักษาอาคาร รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรจากธรรมชาติในอาคาร การประหยัดพลังงานน้ำและไฟฟ้า ก็เป็นประเด็นที่นำมาพิจารณาไม่น้อยไปกว่าการเริ่มต้นวางแนวคิดการออกแบบและการออกแบบรายละเอียด

เพราะโดยแท้จริงแล้วการใช้พลังงานในอาคารและการสร้างผลกระทบต่อโลกแวดล้อมของตัวอาคารนั้นจะมีที่มาจากการใช้งานอาคารมากที่สุด



"แนวคิดสถาปัตยกรรมยั่งยืนนี้ เราริเริ่มมานานนับแต่ช่วงทศวรรษปี 1970 เป็นต้นมา จนถึงตอนนี้แนวความคิดของเรายังไม่เปลี่ยน แต่วิธีการอาจเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เรานำมาประกอบใช้เพื่อพัฒนาให้การออกแบบออกมาดียิ่งขึ้น" โทบี้ย้ำ

ในฐานะผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ฟอสเตอร์มีโครงการออกแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย อาทิ การออกแบบสนามบิน สถานีรถไฟฟ้า พิพิธภัณฑ์ อาคารรัฐสภา อาคารสำนักงาน และสถานประกอบการ ตลอดจนการออกแบบบ้านและผลิตภัณฑ์

สรรพล ศรกุล สถาปนิกชาวไทย ได้ร่วมงานกับบริษัทแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2544 ยกตัวอย่างโครงการออกแบบก่อสร้าง สนามบินสแตนสเต็ด (Stansted) ประเทศอังกฤษ

เขาเล่าให้ฟังว่า สนามบินแห่งนี้มีการจัดวางอาคารในลักษณะ "กลับจากบนเป็นล่าง" ซึ่งจะช่วยให้หลังคาเบา เพราะระบบควบคุมความร้อนที่ปกติจะติดอยู่ที่หลังคา ถูกเปลี่ยนไปไว้ชั้นล่างสุดใต้ลานอาคารสนามบินแทน สำหรับระบบกระจายความร้อนหรือความเย็นถูกจัดให้อยู่ใน ?ลำต้นหรือเสา? เพื่อพยุงหลังคาที่เบา และมีโครงสร้างที่กะทัดรัดเพื่อให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของผู้คนที่พลุกพล่านและการลงจอดของเครื่องบิน

 

 

ยังมีพื้นที่สำคัญที่ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อย่างชุมชนเมือง

นั่นคือศูนย์วัฒนธรรมในเขตเกาลูนตะวันตก (West Kowloon Cultural District) เปลี่ยนแปลงชีวิตคนฮ่องกงในด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก

สรรพล เล่ารายละเอียดว่า โครงการนี้จะจัดสร้างศูนย์ใหญ่สำหรับการดนตรี การแสดง และทัศนศิลป์ในพื้นที่หน้าอ่าวใจกลางฮ่องกง ทั้งการจัดวางที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ห้องแสดงภาพศิลปะ สตูดิโอ ร้านค้า ร้านกาแฟ และร้านอาหารให้รวมอยู่ในเขตเดียวกัน เพื่อให้ศูนย์วัฒนธรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเมือง

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ นิทรรศการที่จัดแสดง

ยังมีอีกหลากหลายโซนที่ห้ามพลาด


งานสถาปัตยกรรมศิลปะของบริษัทที่น่าสนใจยิ่ง สามารถรับชมได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 29 มิถุนายน 2557 ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-21.00 น. ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออก 3)

หน้า 14 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.