เพื่อ"การอ่าน"ที่ดีกว่า
 


เพื่อ"การอ่าน"ที่ดีกว่า


เริ่มภาพชุดทั้งหมด --> จบภาพชุดทั้งหมด --> เริ่มข่าวเกี่ยวเนื่อง --> จบข่าวเกี่ยวเนื่อง --> ใส่แสดงความคิดเห็นท้ายข่าว --> อ่านล่าสุด  คน--> FB COMMENT --> --> END FB COMMENT -->
 เพื่อ
รับชมข่าว VDO -->




เมื่อไม่กี่วันก่อนสำนักงานสถิติแห่งชาติเพิ่งจะแถลงผลสำรวจสถิติการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2556 ที่มาช่วยลบล้างคำกล่าวที่ว่า "คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด" ไปได้อย่างสิ้นเชิง

ด้วยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มจากเดิมร้อยละ 68.6 เป็น 81.8 และใช้เวลาอ่านเฉลี่ยคนละ 37 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 35 นาที ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ก็เพิ่มจากร้อยละ 53.5 เป็น 58.9 และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยเป็น 27 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 นาที

แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่อายุมากกว่า 6 ปี จำนวน 11.3 ล้านคน และอายุต่ำกว่า 6 ปี อีก 1.9 ล้านคนที่ยังไม่อ่านหนังสือ

ดังนั้น ตัวแทนจากหลายองค์กรจึงได้ร่วมกันเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจทีเดียว

โดย "ศกุนตลา สุขสมัย" หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมวิทยบริการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล่าถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะความพร้อมในการอ่านหนังสือของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน

"มีเด็กกลุ่มใหญ่ที่บริบทเขายังไม่พร้อมเข้าสู่การศึกษา เช่น กลุ่มนอกระบบการศึกษาหรือลูกแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย"

ซึ่งอยู่ในสถานะที่เลือกไม่ได้ต่างจากเด็กในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในเขตเทศบาล เพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตที่ สพฐ.ดูแล จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทว่าทางหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือ ห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งไม่ควรเป็นที่พึ่งแค่สำหรับนักเรียน แต่ต้องครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ ด้วยการมีหนังสือที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

"ต้องดูด้วยว่าตรงนั้นเป็นสังคมแบบไหน ถ้าเป็นเกษตรกรรม ลูกจ้าง แรงงาน จะมีหนังสืออะไรที่คนแถวนั้นอ่าน" ศกุนตลากล่าว

ด้าน "ดร.สิริกร มณีรินทร์" ประธานอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค มองว่า แม้เวลาในการอ่านเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เมื่อวัดจากผลการทดสอบของ สพฐ. อันแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีทักษะการใช้ภาษาและคิดวิเคราะห์ที่ไม่ดี

"เราควรส่งเสริมให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่านและเรียนรู้อย่างจริงจัง หลายประเทศที่ผ่านวิกฤตมาได้เพราะให้ความสำคัญกับการอ่าน" เธอบอกพร้อมยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มองว่า "คน" คือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด ดังนั้นทางรัฐจึงเน้นยุทธศาสตร์ด้านการอ่านตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาคน

ไม่ต่างจากหน่วยงานเอกชนบ้านเรา ที่แม้จะดำเนินการเรื่องนี้มานาน แต่ส่วนใหญ่มักทำตามความสนใจในเฉพาะบางส่วนจึงไม่อาจครอบคลุมได้ทั้งพื้นที่

"ทีเคพาร์คทุ่มงบถึง 200 กว่าล้านบาทต่อปี แต่จะให้มีอิมแพคหรือแรงสะเทือนต่อ 60 กว่าล้านคนทั่วประเทศนั้นยาก"

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดจึงต้องรีบจัดทำแผนแม่บทของการรณรงค์การส่งเสริมการอ่านของแต่ละช่วงวัยโดยเร็ว

ขณะที่ "สุดใจ พรหมเกิด" ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสนอแนะอีกแนวทางน่าสนใจ โดยหยิบยกโครงการ "Reach Out and Read" ของสหรัฐอเมริกา ที่แจกหนังสือฟรีให้เด็กๆ ได้ติดมือกลับบ้านทุกครั้งมาเป็นตัวอย่าง

"ถามว่าทำไงจะให้ราคาหนังสือถูกลง บางครั้งไม่จำเป็นต้องกดดันระบบผลิต เพราะระบบมีกลไกของมันอยู่แล้ว แต่ควรคิดว่าทำไงให้มีหนังสือฟรี"

"บางประเทศผลิตหนังสือเพื่อเด็กโดยเฉพาะ บางประเทศซื้อลิขสิทธิ์หนังสือที่ได้รางวัลมาผลิต แต่เราไม่เคยใช้แผนตรงนี้เลย" เธอว่า

ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้องคิดวิธีในการสร้างกองทุนหนังสือและสวัสดิการหนังสือเด็กแรกเกิด ซึ่งตอนนี้ก็ได้มีหลายองค์การบริหารส่วนตำบลเริ่มทำบ้างแล้ว เช่น จ.ยโสธร ที่เริ่มทำหนังสือของตัวเองและแจกฟรีเป็นจังหวัดแรก และคาดว่าใน 1-2 ปี ข้างหน้าจะได้เห็นความคืบหน้า

"อยากให้เกิดอย่างนั้นกรณีที่ภาครัฐยังไม่ทำเรื่องนี้ให้ต่อเนื่อง" สุดใจกล่าว

ทั้งยังเสนอต่อสำนักงานสถิติว่าสิ่งที่ควรสำรวจในครั้งต่อไป คือ การตรวจสภาพหนังสือ ทั้งคุณภาพ ความหลากหลาย และความเหมาะสมต่อท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ปริมาณ

เพราะบ่อยครั้งที่การบริจาคทำให้ผู้รับได้อ่านเพียงหนังสือเก่าๆ หรือไม่ตรงความต้องการ

โดยเธอเล่า "ตอนลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เขาเล่าว่าพยายามทำเลี้ยงน้ำชา เหมือนการทอดผ้าป่าหนังสือ มีคนใจบุญมอบหนังสือให้กว่าหมื่นเล่ม แต่ใช้ไม่ได้ 4 พันเล่ม ที่เหลือเป็นหนังสือสวดมนต์เยอะ ก็ต้องเอาไปบริจาควัด"

นอกจากนี้เธอยังยืนยันว่า หนังสือไทยอีกมากมายที่มีคุณภาพควรค่าแก่การอ่าน วัดได้จากการประกวดหนังสือที่จัดกันบ่อยครั้ง ซึ่งถ้าทำให้เด็กในวัย 6 ขวบรักการอ่านได้ นิสัยนี้ก็จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

แต่หนังสือจะถึงมือเด็กอย่างทั่วถึงได้อย่างไร

"คงเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่เช่นเราต้องช่วยกันขบคิด"

หน้า 22 มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 29 เมษายน 2557

Start ADS Google Adsense 336x280-->





mc_336x280_slot1_other -->


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.