ข่าวดีคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 37นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 54ร้อยละ 10 กทม.อ่านมากสุด
 


ข่าวดีคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 37นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 54ร้อยละ 10 กทม.อ่านมากสุด


  ข่าวดีคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 37นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 54ร้อยละ 10 กทม.อ่านมากสุด
รับชมข่าว VDO -->

สืบเนื่องจากผลการสำรวจในรอบปีที่ผ่านมาถึงผลการอ่านหนังสือของคนไทยที่มีค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 8 บรรทัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจสำหรับคนไทย เพราะการอ่านถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานของทุกคนในการเรียนรู้

 

 สำนักอุทยานการเรียนรู้(TkPark) จับมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย  คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 37 นาทีต่อวัน และอัตราการอ่านเพิ่มมากขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 แต่ยังพบผู้ไม่อ่านและไม่รู้หนังสือ พร้อมเร่งกำลังพัฒนาการอ่านระดับประเทศ เพื่อคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น  โดยงานจัดขึ้น ณ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์



นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงถึงผลการสำรวจที่ผ่านมาว่า สถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2 ปี โดยปี พ.ศ.2556 สำรวจประชากรตัวอย่าง 55,290 ครัวเรือน ผลปรากฏว่า คนไทยตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการหนังสือร้อยละ 81.8 และใช้เวลาอ่านหนังสือต่อวันเฉลี่ยคนละ 37 นาที โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 มากว่าร้อยละ 10 ทั้งชายและหญิง   โดยในการอ่านหนังสือนี้เป็นการอ่านทุกประเภท รวมทั้งการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย  นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มวัยที่อ่านหนังสือมากสุด คือวัยเด็ก ร้อยละ 91.5 ตามด้วยเยาวชนหรือวัยรุ่น ร้อยละ 90.1  วัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 83.1 และ วัยสูงอายุ

ร้อยละ 57.8 ตามลำดับ



เมื่อแยกตามภูมิภาค ผลปรากฏว่า ประชากรกรุงเทพมหานครอ่านหนังสือมากที่สุด ร้อยละ 94.6  ตามด้วย ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน    นอกจากนี้สถิติดังกล่าวชี้ว่า หนังสือที่คนไทยอ่านมากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 73.7 ตามด้วยวารสาร/เอกสารรายประจำ ร้อยละ 55.1 ตำรา ร้อยละ 49.2   นิตยสาร ร้อยละ 45.6 หนังสือทางศาสนาร้อยละ 41.2 ส่วนนิยาย การ์ตูน หนังสืออ่านเล่น ร้อยละ 38.5  


โดยสถานที่ที่ใช้อ่านมากที่สุดคือที่บ้าน ตามด้วย สถานที่เอกชน ที่ทำงานและสถานีที่ศึกษา และท้ายที่สุดข้อมูลยังกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการอ่านว่า วิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุด คือ การลดราคาหนังสือให้ถูกลง ปลูกฝังการอ่านผ่านครอบครัว และการปรับเนื้อหาหนังสือให้อ่านง่ายขึ้นด้วย


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ยังมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ และอ่านหนังสือไม่ออก  ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือปัญหาการไม่อ่าน เพราะไม่รักการอ่านหรือไม่สนใจ พบมากถึงร้อยละ 18.1 ของผู้ที่ไม่อ่านหนังสือ  


หลังจากการงานแถลงข่าว ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานอนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า "มีความพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องถามต่อว่าผลอันนี้ คนไทยอ่านอย่างไร อ่านอะไร  เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะผลความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ออกมาผ่านช่องทางการทดสอบหลายๆทาง ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ"   พร้อมทั้งยังฝากถึงรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านของชาติ ให้พัฒนาต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล ก็ยกเลิกนโยบายนี้ไป



ในส่วนของ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ ได้กล่าวถึงโครงการการสนับสนุนการอ่านในส่วนของอุทยานการเรียนรู้ ต่อไปในอนาคตว่า "ในส่วนนี้เรากำลังขยายในส่วนของโครงการที่เรียกว่า ห้องสมุดมีชีวิต ไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ ยะลา หรือที่กำลังจะเกิดอีกหลายๆแห่ง  ซึ่งตอนนี้เรามีเครือข่ายถึง 26 แห่งทั่วประเทศ  โดยในแต่ละเครือข่ายก็จะดำเนินกิจกรรมตามที่กำหนดกันไว้ ก็จะเป็นแนวทางทิศทางเดียวกัน ก็คือเรื่องการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน"


 ผลการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในอนาคตสำหรับสังคมไทยที่จะพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งเป็นการกระตุ้นทุกภาคส่วนให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านและให้ความร่วมมือในการสร้างเสริมให้เกิดผลสำเร็จต่อไป.





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.