เรียนภาษาอังกฤษอย่าง.. มั่นใจ สนุก สื่อสารได้
 


เรียนภาษาอังกฤษอย่าง.. มั่นใจ สนุก สื่อสารได้


 เรียนภาษาอังกฤษอย่าง.. มั่นใจ สนุก สื่อสารได้

เรียนภาษาอังกฤษอย่าง.. มั่นใจ สนุก สื่อสารได้

คอลัมน์ มติชน มติครู

โดย ดร.กีรติ คุวสานนท์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




หลักของการเรียนภาษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และนำไปสู่ขีดความสามารถในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น มีองค์ประกอบของความสำเร็จด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ผู้เรียนจะต้องเสียสละและทุ่มเท อีกทั้งการใช้ความพยายามและความมุ่งมั่นในกระบวนการเรียนรู้ส่วนบุคคลของผู้เรียนที่จะต้องสร้างวินัยของการเรียนรู้ทางด้านภาษาในเบื้องต้น 

"แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ไม่แพ้กัน ก็คือ "วิธีการสอน" ประสิทธิภาพของการสอนนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจและนำภาษาไปใช้เพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล วิธีการสอนมีด้วยกันหลากหลายวิธี แต่ละวิธีก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวและต้องถูกออกแบบให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป ความท้าทายของศาสตร์แขนงนี้ไม่เพียงแต่ผู้สอนจะต้องมีทักษะที่ดีในเรื่องของวิธีการสอนเท่านั้น แต่ยังจะต้องมีศิลปะในการเลือกใช้วิธีการเรียนการสอนให้เหมาะกับลักษณะของผู้เรียนอีกด้วย ขณะเดียวกันผู้สอนเองต้องกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้อีกเช่นเดียวกัน"

ทักษะทางภาษามีอยู่ด้วยกัน 4 ทักษะ กล่าวคือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยธรรมชาติของการเรียนภาษานั้น ทักษะการฟัง และการพูด จะเป็น 2 ทักษะแรกที่ผู้เรียนภาษามักจะพัฒนาได้ก่อนทักษะทางด้านอื่น 

เป็นเรื่องน่าขบคิดว่าเพราะเหตุใดเด็กไทยจึงไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารโดยการพูด ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วทักษะการพูดเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้เร็วกว่าทักษะการเขียน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในระบบการศึกษาปัจจุบันของไทย การเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนมักเน้นพัฒนาทักษะทางด้านการอ่าน และการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เป็นหลัก การเรียนการสอนจึงมักเป็นแบบ Passive Learning ซึ่งผู้เรียนจะไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนมากนัก เพราะจะเป็นลักษณะของการเรียนที่นั่งฟังการบรรยาย หรือการสื่อสารทางเดียว แต่การเรียนการสอนภาษาที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต้องอาศัยการเรียนการสอนแบบ "Active Learning" เช่น การอภิปราย การทำกิจกรรมเป็นกลุ่มที่เน้นการมีส่วนร่วม ทั้งยังสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนที่จะพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของการเรียนภาษานั้นอย่างมีนัยสำคัญ 

กิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ทำได้หลายวิธี ใช้เวลาทั้งคาบเรียน หรือใช้เวลาเพียง 10 นาที ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ เช่น ครูผู้สอนอาจจัดกิจกรรมส่งเสริมการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษโดยกำหนดหัวข้อการสนทนาให้ โดยให้นักเรียนแต่ละคนเตรียมตั้งคำถามแบบง่ายๆ เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ครูอาจตั้งคำถามตัวอย่างไว้ให้สัก 2-3 คำถามเป็นแนวทาง ข้อดีคือจะช่วยเริ่มต้นบทสนทนาแล้ว จะช่วยให้นักเรียนได้เตรียมคิดหาคำตอบล่วงหน้า ช่วยให้นักเรียนมั่นใจมากขึ้นในการสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนการให้อิสระแก่นักเรียนในการคิดคำถามขึ้นเอง เป็นการฝึกทักษะในการสนทนาเชิงถามตอบได้อย่างดี รวมถึงเพิ่มความมั่นใจในการพูดคุย

วิธีที่จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการฝึกการสนทนาแบบ Active Learning ครูผู้สอนอาจให้นักเรียนเลือกจับคู่สนทนาในห้องเรียนกันเอง และเปลี่ยนคู่สนทนาสัก 2-3 คู่สนทนาเป็นอย่างน้อย ขณะที่ครูเฝ้าสังเกตการสนทนาของนักเรียนได้ 

นอกเหนือจากการเรียนการสอนทั้ง 2 แบบแล้ว "Cooperative Learning" ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับการเรียนการสอนที่กำหนดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ (Student-Centered) เช่นเดียวกับการเรียนการสอนแบบ Active Learning หากความพิเศษของ Cooperative Learning คือมุ่งให้นักเรียนทำกิจกรรมแบบเป็นกลุ่ม โดยคละความสามารถของผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม ภายใต้ทฤษฎีของการเรียนรู้ที่ว่า การเรียนเป็นกลุ่มจะช่วยกันส่งเสริม พัฒนาทักษะและความสามารถได้ดีกว่าการปล่อยให้เรียนรู้เพียงลำพัง ขณะเดียวกันผู้ที่ถนัดมากกว่าจะได้ถือโอกาสทบทวนความรู้ที่มีผ่านกระบวนการอธิบายให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง ซึ่งผลวิจัยพบว่าการอธิบายข้อมูลใดๆ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและแม่นยำในข้อมูลมากขึ้นแก่ผู้อธิบายเอง นอกจากนี้ ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้น เพราะการเรียนโดยใช้วิธีนี้ผู้เรียนจะถูกประเมินจากพัฒนาการของตนเอง โดยสมาชิกในกลุ่มจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เพื่อนแต่ละคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ของสมาชิกทุกคนในกลุ่มได้อย่างดี

การใช้ Cooperative Learning สำหรับการสอนภาษา เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้นักเรียนพัฒนาทักษะทางด้านภาษาได้อย่างมีประสิทธิผลมาก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและใช้ภาษาในสถานการณ์จริงในกลุ่มเล็กๆ ทำให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝนการใช้ภาษาอย่างทั่วถึง และทำให้ผู้เรียนมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น มากกว่าการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งจะประหม่า เกิดความลังเลใจ และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะการแสดงออกทางความคิดเห็น จึงเป็นการปิดโอกาสของผู้เรียนในการฝึกฝนไปโดยปริยาย 

อีกหนึ่งวิธีการสอนที่จะขอกล่าวถึงคือ "Jigsaw" ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการสอนของ Cooperative Learning ในวิธีการสอนแบบนี้ นักเรียนจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มโดยคละความสามารถกัน แต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยนักเรียน 4-6 คน แต่ละคนในกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานในหัวข้อที่แตกต่างกัน ผู้สอนอาจแบ่งหัวข้อตามจำนวนนักเรียนแต่ละกลุ่ม เช่น ให้นักเรียนค้นคว้าคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 20 คำ ได้ค้นหาความหมายของคำศัพท์ที่กำหนดให้ รวมถึงหน้าที่ของคำศัพท์นั้นๆ เวลาใช้ในรูปประโยค ตลอดจนการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ ครูอาจกำหนดให้แต่ละกลุ่มมีสมาชิก 4 คน จะเรียกกลุ่มนี้ว่า Home Group โดยครูจะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้นักเรียนแต่ละคน เช่น นักเรียนคนที่ 1, 2, 3 และ 4 ให้รับผิดชอบคำศัพท์คนละ 5 คำตามลำดับ และให้นักเรียนที่รับผิดชอบคำศัพท์ในแต่ละชุดของแต่ละกลุ่ม รวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันค้นคว้าหาข้อมูลของคำศัพท์ชุดที่ได้รับมอบหมายมา ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group) เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มนี้จะมีข้อมูลของคำศัพท์ในชุดที่ได้รับมอบหมายและเป็นผู้เชี่ยวชาญในข้อมูลนั้นๆ อย่างดี 

นอกจากนี้ สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มยังต้องช่วยกันตรวจทานให้แน่ใจว่าทุกคนในกลุ่ม Expert group มีความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างถูกต้องตรงกัน และเนื่องจากสมาชิกใน Expert Group ต้องกลับเข้าสู่ Home Group เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่ตัวเองได้ค้นคว้าแก่สมาชิกคนอื่นๆ จะสร้างเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้พูด เพราะได้ค้นคว้ามาก่อน และเตรียมการที่จะให้คำอธิบาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเหล่านี้สมาชิกทุกคนจะได้รับข้อมูลของคำศัพท์ครบถ้วนทั้ง 20 คำ รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นผู้อธิบายข้อมูลที่ตัวเองค้นคว้ามา ตลอดจนฟังคำอธิบายของข้อมูลคำศัพท์ชุดอื่นๆ ที่เพื่อนสมาชิกค้นคว้าเช่นกัน กิจกรรมลักษณะนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนมีประสบการณ์ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง มีโอกาสพัฒนาทักษะการฟังและการพูด 

ในช่วงแรกๆ นักเรียนอาจขาดความมั่นใจที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร แต่จุดเริ่มต้นจากการสนทนาในกลุ่มย่อยจะช่วยให้นักเรียนผ่อนคลายและมั่นใจมากขึ้น เมื่อเทียบกับต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษกับครูผู้สอน หรือพูดภาษาอังกฤษหน้าชั้นเรียน ระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรม ครูอาจให้คำแนะนำแก่นักเรียนกลุ่มต่างๆ ตามความเหมาะสม เพราะบทบาทของครูเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และคอยช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ครูผู้สอนอาจใช้วิธีสรุปบทเรียนให้แก่นักเรียนทั้งห้องฟังอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่านักเรียนได้รับข้อมูลของคำศัพท์นั้นๆ ถูกต้อง

กล่าวโดยสรุปคือ หัวใจสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการสื่อสารได้อย่างสัมฤทธิผล ต้องสร้างเสริมให้นักเรียนมีโอกาสฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การสร้างโอกาสนั้นไม่ควรมุ่งให้นักเรียนฝึกฝนทักษะทางการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจและความกล้าในการใช้ภาษาของผู้เรียนอีกด้วย การเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือ Cooperative Learning จะช่วยให้ครูผู้สอนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ภาษาในการสื่อสารไปพร้อมๆ กับการทำลายกำแพงความรู้สึกไม่มั่นใจและความกลัวในการสื่อสาร โดยใช้ภาษาอังกฤษต่อหน้าเพื่อนนักเรียน การเรียนการสอนทั้งสองแบบนี้ไม่ใช่วิธีการเรียนการสอนที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก เพียงแต่ระยะเริ่มต้น ทั้งครูและนักเรียนอาจไม่คุ้นเคยกับวิธีการ หากแต่เมื่อใช้วิธีเหล่านี้ไประยะหนึ่ง ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนจะเกิดความคุ้นชิน ในที่สุดจะทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้หน้าที่และวิธีปฏิบัติ ซึ่งนั่นจะเป็นการลดทอนระยะเวลาของกิจกรรมลงได้ และกิจกรรมที่ทำจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ 

"กล่าวคือ นักเรียนมีโอกาสเริ่มต้นที่จะสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางภาษา และความสามารถในการสื่อสารในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิผล ให้สมกับการได้ร่ำเรียนภาษาอังกฤษกันมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 12 ปี"


หน้า 6 มติชนรายวัน 6 เมษายน 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.