ช็อก! คอมพ์ 61%ติดมัลแวร์ ไมโครซอฟท์ แนะใช้โอเอสแท้ ลดเสี่ยงได้
 


ช็อก! คอมพ์ 61%ติดมัลแวร์ ไมโครซอฟท์ แนะใช้โอเอสแท้ ลดเสี่ยงได้


ช็อก! คอมพ์ 61%ติดมัลแวร์ ไมโครซอฟท์ แนะใช้โอเอสแท้ ลดเสี่ยงได้

ไมโครซอฟท์ เผยผลสุ่มสำรวจคอมพิวเตอร์ใน 11 ประเทศ​ พบว่า 61% ของจำนวนที่สุ่มตรวจล้วนติดมัลแวร์ ย้ำใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ช่วยปกป้องข้อมูลและลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ จี้ผู้ค้าคอมพ์ขายเครื่องพร้อมระบบปฏิบัติการแท้…


นายแมทเทียว มิลล์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ไอดีซี บริษัทวิจัยชั้นนำ และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหาย จากผลกระทบของมัลแวร์แฝงที่มากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ในหัวข้อความเกี่ยวข้องระหว่างซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และการละเมิดระบบความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบคอมพิวเตอร์จากประเทศต่างๆ ทั้งสิ้น 11 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยผลการสำรวจคอมพิวเตอร์กว่า 203 เครื่อง พบว่า 61% ของจำนวนดังกล่าวนั้นติดมัลแวร์ อาทิ โทรจัน เวิร์ม ไวรัส เป็นต้น ส่วนผลสำรวจคอมพิวเตอร์จากประเทศไทยจำนวน 20 เครื่องนั้น พบว่ามีจำนวนกว่าติดมัลแวร์ถึง 84% ขณะที่คอมพิวเตอร์จากแม็กซิโกนั้น พบว่ามีมัลแวร์อยู่ทั้ง 100% ซึ่งขั้นตอนแรกในการป้องกันมัลแวร์ คือการซื้อคอมพิวเตอร์จากแหล่งที่ไว้ใจได้ แต่จากผลการสำรวจพบว่ากว่า 65% ของลูกค้าและกลุ่มองค์กรยอมรับว่าได้เลือกซื้อคอมพิวเตอร์จากแหล่งที่ไม่น่าไว้ใจ


ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้องค์กรทั่วโลกอาจต้องสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการจัดการระบบความปลอดภัย โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นอาจต้องเสียเงินกับเรื่องดังกล่าวราว 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมีการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากและมีอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์สูง อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ด้วยว่าผู้ประกอบการถึง 1 ใน 3 มีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรออนไลน์ โดยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรนั้น พบว่า 27% มาจากพนักงานเป็นผู้ลักลอบติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าว ซึ่งซอฟต์แวร์ราว 20% นั้นล้วนเป็นซอฟต์แวร์เถื่อน และแม้ว่าองค์กรต่างๆ จะมีระบบตรวจสอบซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ แต่พบว่ามีการตรวจสอบเพียง 2 ครั้งต่อปี ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอในการดูแลคอมพิวเตอร์


นายแมทเทียว กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจต้องสูญเสียเงินมูลค่าถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัญหาภัยคุกคาม จากจำนวนการใช้งานคอมพิวเตอร์ 140 ล้านเครื่องในภูมิภาคดังกล่าว พบว่า 90 ล้านเครื่องเป็นการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งควรเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อและการเก็บข้อมูลส่วนตัว ซึ่งภาครัฐเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงข้อมูลลับ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรต้องมีสร้างความตื่นตัวแก่ผู้บริโภคและป้องกันความเสี่ยงจากการใช้งานด้วย


ด้าน นางกฤติยา เอี่ยมศิริ ผู้จัดการฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยนั้นถือว่ายังไม่ดีขึ้น แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ และสร้างความรู้ความเข้าใจในประโยชน์และความปลอดภัยจาการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคถือเป็นส่วนสำคัญในการลดใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ว่าปัจจุบันการขายคอมพิวเตอร์จะมีการทำราคา โดยตัดระบบปฏิบัติการที่แถมไปกับเครื่องออก เพื่อทำให้สามารถจำหน่ายเครื่องได้ในราคาถูกลงก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงขั้นแรก ที่ทำให้ผู้ใช้อาจหันไปเลือกใช้ระบบปฏิบัติการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มีราคาถูกกว่า หรือได้รับเป็นของแถมเมื่อตอนซื้อเครื่องจากร้านค้า

ผู้จัดการฝ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ยังคงเดินหน้าเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ระบบปฏิบัติการแท้ที่ถูกลิขสิทธิ์ พร้อมขอความร่วมมือจากผู้ค้าคอมพิวเตอร์ให้ขายพ่วงระบบปฏิบัติการเมื่อลูกค้าซื้อเครื่องใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามสนับสนุนให้วินโดวส์กลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับแท็บเล็ต เพื่อตอบสนองการใช้งานแท็บเล็ตที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทยอีกด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.