นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักท่องเที่ยวจีน...ไอ๊หยา
 


นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักท่องเที่ยวจีน...ไอ๊หยา


--> END FB COMMENT --> Start ADS Google Adsense 336x280-->



 นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักท่องเที่ยวจีน...ไอ๊หยา



พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน และปฏิกิริยาของคนไทย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีนในช่วงนี้ ออกจะเข้าใจยากแก่ผมทีเดียว

แน่นอนว่า พฤติกรรมที่คนไทยรังเกียจหลายอย่างของนักท่องเที่ยวจีน ย่อมทำให้เจ้าบ้านรังเกียจ จนว่ากันว่ามีเว็บไซต์ที่ใช้ชื่อว่า "คนเชียงใหม่ไม่ต้องการนักท่องเที่ยวจีน" อันนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ก็ยังมีอะไรอื่นอีกที่เข้าใจยากทั้งพฤติกรรมและปฏิกิริยา จนทำให้ผมไม่แน่ใจว่า คำอธิบายแต่เพียงพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว จะเพียงพอ

พฤติกรรมที่เลื่องลือของนักท่องเที่ยว และปฏิบัติกันบ่อยเสียจนหลายคนเคยมีประสบการณ์โดยตรง นั่นคือการถ่าย (อุจจาระ) เร็วๆ นี้ มีคลิปออนไลน์อันหนึ่ง ที่แสดงภาพผู้หญิงคนหนึ่งนั่งถ่ายอยู่ที่มุมกำแพงเวียง (แจ่ง) เชียงใหม่แห่งหนึ่ง ชาวเน็ตอีกหลายคนเข้ามาเขียนต่อท้ายว่า ต้องเป็นนักท่องเที่ยวจีนอย่างแน่นอน

เพื่อนผมคนหนึ่ง ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับภัตตาคารจีนชื่อดังของทัวร์ และมักมีรถทัวร์มาส่งลูกค้าจอดเรียงรายบนถนนใหญ่ เขาเล่าว่า นักท่องเที่ยวจีนเมื่ออิ่มอาหารแล้ว ก็มักมานั่งถ่ายในซอยหน้าบ้านของเขาเป็นประจำ เพราะมันมืดดี แม้แต่ขับรถออกจากบ้านก็ต้องระวังไม่ไปทับกากอาหารเหล่านี้ เพราะล้อรถจะสะบัดให้กระจายไปทั่วใต้ท้องรถ

เจ้าหน้าที่ของสนามบินเชียงใหม่เล่าว่า เด็กหนุ่มจีนคนหนึ่งนั่งถ่ายที่ขั้นบันไดที่จะนำไปสู่ห้องน้ำของสนามบินหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่อีกสองก้าวก็จะถึงส้วมอยู่แล้ว

พนักงานทำความสะอาดส้วมที่สนามบินเล่าว่า นักท่องเที่ยวจีนใช้โถส้วมแบบนั่งห้อยขา (โถฝรั่ง) ไม่เป็น มักทำเลอะเทอะ และไม่เคยกดน้ำเมื่อเสร็จธุระแล้ว

มีพฤติกรรมสองอย่างในเรื่องการถ่ายของนักท่องเที่ยวที่ผมเล่ามานี้ อย่างแรกคือการใช้ส้วมชักโครกไม่เป็น และอย่างที่สองคือการถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง



อย่างแรกนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ก็คนไม่เคยใช้มาก่อน ก็ใช้ไม่เป็นเท่านั้นเอง เมืองจีนที่ผมเคยเห็นเมื่อสิบปีมาแล้ว ไม่มีโถส้วมแบบนี้มากนัก หากไม่ใช่โรงแรมและห้องอาหารชั้นดีแล้ว ก็เป็นส้วมแบบนั่งยองทั้งนั้น จำนวนมากของส้วมแบบนั้นยังใช้ถังรองรับอยู่ข้างล่างด้วย เสร็จธุระแล้วไม่ต้องราดน้ำ ส้วมนั่งยองประเภทต้องราดน้ำ ในบางแห่งเขาก็ไม่ราด จนผู้หญิงไทยบ่นว่า นั่งลงไปไม่ได้ เพราะจะไปสัมผัสภูเขาอุจจาระข้างล่าง ในชนบทจีนสมัยนั้น อุจจาระเป็นของมีค่าเพราะสามารถขายไปทำปุ๋ยผักได้

ผมโตมาในเมืองไทยที่มีสภาพบางอย่างคล้ายกัน ส้วมของโรงเรียนที่ผมเรียนนั้น เป็นส้วมถัง ไม่ต้องราดน้ำเหมือนกัน ทุกเย็นเจ๊กสวนผักจะมาเก็บไป ผมไม่ทราบว่าโรงเรียนได้รายได้จากเจ๊กสวนผักหรือไม่ ในกรุงเทพฯ ก่อนผมเกิด แถวสำเพ็งและเยาวราช เขาก็ใช้ส้วมถัง มีบริษัท "กงซีล้ง" รับเก็บและเปลี่ยนถังให้ทุกบ้านเรือน

สรุปก็คือจะหาส้วมโถฝรั่งในเมืองไทยได้น้อยมากเหมือนกัน ยิ่งออกไปต่างจังหวัดก็ยิ่งหาไม่ได้เอาเลย ผมจำได้ว่าเมื่อโถฝรั่งเริ่มติดตั้งตามโรงแรม หรือสถานที่ราชการ มักมีป้ายประกาศไว้ในห้องว่า อย่าขึ้นไปนั่งยองๆ บนโถเป็นอันขาด จนทุกวันนี้ ผมก็ยังเคยเห็นป้ายเช่นนี้อยู่ในห้องน้ำสาธารณะบางแห่ง และดังที่พอจะเดาได้อยู่แล้ว การนั่งผิดท่ากับโถฝรั่งเช่นนี้ โอกาสพลาดเป้าจะมีสูงจนเลอะเทอะได้

เมื่อราชการไทยคิดส้วมซึมได้ครั้งแรก (ใน ร.5 หรือ ร.6 นี่เอง) ก็มีลักษณะเป็นส้วมนั่งยอง เพราะตรงกับลักษณะนั่งถ่ายที่ชาวบ้านเคยชิน ฉะนั้น เมื่อคนไทยใช้ส้วมเป็น ก็ใช้ในลักษณะนั่งยอง กว่าจะปรับตัวมาเปลี่ยนท่าได้ก็ต้องใช้เวลา

ย้อนกลับไปดูตัวเราเองว่าพฤติกรรมขับถ่ายได้ถูกพัฒนาคลี่คลายมาอย่างไร ก็ไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมเลอะเทอะของนักท่องเที่ยวจีนเป็นที่น่าประหลาดใจอย่างไร หากคนไทยรวยแบบถูกหวยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และออกท่องเที่ยวไปตามประเทศที่ใช้โถฝรั่งแพร่หลายแล้ว เราก็คงทำเลอะเทอะไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวจีน

แต่พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งคือถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางนั้น เข้าใจยากพอสมควร

ในบรรดาวัฒนธรรมต่างๆ ของเอเชียตะวันออกนั้น จีนเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่รู้จักส้วมมาก่อนเก่า แม้ว่าส้วมจีนอาจไม่มิดชิดนัก แต่ก็ "เป็นที่เป็นทาง" ส้วมถังที่ใช้กันในกรุงเทพฯสมัยก่อน ก็เป็นวัฒนธรรมจีน และใช้กันในชุมชนจีนของกรุงเทพฯ เมื่อผมเป็นเด็กและเรียนหนังสืออยู่ที่ศรีราชานั้น ห้องแถวทั้งหมดในตลาด (เจ๊ก) ของศรีราชานั้นไม่มีส้วมอยู่เลย แต่ทั้งตลาดมีส้วมสาธารณะเป็นห้องเรียงรายบนสะพานไม้ที่ยื่นลงทะเลแห่งหนึ่ง ทุกคนถ่ายลงทะเลในแต่ละ "คอก" ซึ่งมีผนังกั้นสูงขนาดหน้าแข้ง เมื่อนั่งลงก็ปิดได้แค่ก้น ส่วนบนก็สามารถชมวิวและรับลมทะเลไปพร้อมกัน ชาวบ้านมักเดินมาถ่ายหนักพร้อมกันตอนเช้า ส้วมจึงเป็นสโมสรของชุมชน เพราะต่างก็สนทนากันไประหว่างทำธุระ นี่แหละครับส้วมที่แม้ไม่มิดชิด แต่เป็นที่เป็นทาง

ตรงกันข้ามนะครับ ในอินเดียและอุษาคเนย์เสียอีก ที่ไม่มีส้วม เพราะผู้คนจะถ่ายในที่ลับตาเท่านั้น ส่วนใหญ่มักขจัดกากด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่นในชนบทบางแห่งของอินเดีย เป็นหน้าที่ของวรรณะจัณฑาลในชุมชนจะพาฝูงสุนัขของตนมาเก็บ ในเมืองไทย การ "ไปทุ่ง" มักไปพร้อมเสียมเพื่อฝังกลบ มีบางแห่งที่ลับตาอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ก็มักมีหมูเดินตามไปช่วยขจัดให้ด้วย ในพระราชวังโบราณของไทยไม่มีส่วนใดที่จัดว่าเป็น "ส้วม" พระเจ้าแผ่นดินลงพระบังคนลงในกระโถน แล้วมีมหาดเล็กนำไปทิ้ง แม้ไม่มีส้วมที่เป็นอาคารอย่างจีน แต่ก็ถ่าย "เป็นที่เป็นทาง" คือมีทำเลแน่นอนที่ใช้สำหรับการขับถ่าย

(ผมสงสัยว่า คำ "ส้วม" ในภาษาไทยน่าจะหมายถึงที่มิดชิดเท่านั้น "ส้วม" ในภาษาอีสานจึงแปลว่า ห้องหอ อันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ควรทำในที่มิดชิด)

ในเมืองไทยและลังกา นักโบราณคดีมักพบแผ่นหินที่มีรูซึ่งตีความกันว่าคือฐานส้วมของพระภิกษุ จริงหรือเท็จผมไม่ทราบ หากจริงก็แสดงว่าอย่างน้อยพระภิกษุก็ถ่ายเป็นที่เป็นทาง ส่วนจะมีอาคารล้อมปิดหรือไม่ ไม่ทราบได้ ถึงมีก็ไม่แปลกอะไร เพราะพระวินัยดูจะระแวดระวังอย่างเคร่งครัดมิให้พระภิกษุเปิดเผยอวัยวะเพศ (เช่นห้ามยืนปัสสาวะ แต่ต้องนั่งลง เป็นต้น)

ดังนั้น การถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางของจีนจึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ ในฐานะลูกหลานของคนที่ใช้ส้วมและถ่ายเป็นที่เป็นทางมาหลายพันปีแล้ว



บางคนอธิบายว่า นี่คือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่คิดว่าแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่บ้านของตัว ซ้ำยังไม่มีใครรู้จักหน้าค่าตาอีกด้วย จะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมที่บังคับพฤติกรรมของตนอย่างอยู่ในบ้านตนเอง ก็พอฟังขึ้นนะครับ เพียงแต่ผมสงสัยว่า ทำไมวิธีแหกคอกประเพณีของจีนในแหล่งท่องเที่ยวจึงดูพิลึกพิลั่นขนาดนี้ เพราะการขับถ่ายในที่สาธารณะเป็นที่อุจาดตาแก่คนอื่นๆ แตกต่างอย่างมากจากการควงโสเภณีไปนั่งกินนั่งดื่มและทำอย่างอื่นดังที่นักท่องเที่ยวทั่วไปทำเป็นปกติในเมืองไทยและกัมพูชา

หรือการขับถ่ายให้คนเห็นไม่ได้เป็นที่ "อุจาดตา" อย่างที่ผมเข้าใจ ผมเคยอ่านวิทยานิพนธ์ของใครคนหนึ่งนานมาแล้วว่า คนเอเชียแต่ก่อน ไม่ได้มองการขับถ่ายว่าเป็นกิจกรรมพิเศษที่ต้องทำในที่ลับตาคน แต่มองการขับถ่ายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติในชีวิตมนุษย์ เช่นเดียวกับการกิน หรือการเดิน ความคิดว่าการขับถ่ายเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" เป็นความคิดที่เอามาจากฝรั่งในภายหลัง

ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่างซึ่งคนไทยไม่ชอบ เช่น ทัวร์จีนมักขนอาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้ฟรีบรรจุกล่องไว้เอาไปกินมื้ออื่นด้วย พฤติกรรมนี้ผมได้เห็นกับตาตนเองในโรงแรมแห่งหนึ่ง อาหารเช้าที่เหลือจากแขก คืออาหารเช้าของพนักงานโรงแรม ดังนั้น พนักงานย่อมไม่ชอบใจแน่ และหันมาบ่นเป็นภาษาไทยกับผม อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้เล่าในเว็บออนไลน์ว่า เขาสั่งผัดกะเพรามากิน นักท่องเที่ยวจีนซึ่งไม่อาจสื่อสารกับคนขายได้ ก็ชี้ที่จานอาหารของเขาว่าจะเอาอย่างนี้บ้าง แต่ไม่ชี้เปล่ายังหยิบช้อนมาตักอาหารในจานของเขาไปลองชิมดูก่อนด้วย โดยไม่ได้ขออนุญาต

อันที่จริงพฤติกรรมของคนต่างวัฒนธรรมที่คนไทยรับไม่ได้คงมีมาแต่โบราณแล้ว หมอบรัดเลย์แทบจะถูกรุมกระทืบ เพราะไม่ยอมลงจากสะพานข้ามคลอง เมื่อเรือของเจ้าคุณพระราชาคณะลำหนึ่งกำลังจะผ่านไป เรือก็ไปไม่ได้ เพราะคนเรือไม่ยอมพายลอดไป ฝรั่งก็ยืนหัวโด่อยู่กลางสะพานอย่างนั้น ไม่ยอมขยับออกไปเสียก่อน

แต่ในที่สุดเราก็อยู่กับฝรั่งได้ โดยการเปลี่ยนความคิดของตัวให้มองอะไรบางอย่างไปทางฝรั่งๆ เสียบ้าง เมื่อตอนที่แขกอาหรับเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ผมนึกว่าคนไทยอาจไม่พอใจพฤติกรรมของเขาซึ่งแน่นอนว่าย่อมต่างจากฝรั่งอย่างแน่นอน แต่เราก็รับได้ในที่สุด แม้ว่าเห็นพฤติกรรมบางอย่างของเขาว่าแปลก (เช่นซื้อเสื้อราคาถูกของไทยทีละมากๆ ว่ากันว่าใช้แล้วทิ้งเลยไม่ต้องซัก)

เวลานี้ นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนสูงสุดไปแล้ว ผมเดาไม่ถูกเหมือนกันว่า เราจะรับพฤติกรรมของเขาอย่างสนิทใจได้หรือไม่ในอนาคต



แต่มีสิ่งที่น่าประหลาดใจแก่ผมในทางตรงกันข้ามอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือหากนักท่องเที่ยวจีนไปทำอย่างนี้ในประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น เจ้าบ้านจะทำอย่างไร ผมเชื่อว่า เจ้าบ้านที่พบเห็นคงเอะอะโวยวายว่าอย่าทำอย่างนั้นด้วยภาษาญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นพูดภาษาจีนไม่เป็น อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากก็พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น แต่ท่าทางและน้ำเสียงก็เพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่อาจนั่งถ่ายในที่สาธารณะเช่นนั้นได้ นานเข้านักท่องเที่ยวจีนที่ไปญี่ปุ่นก็จะรู้ว่า เขาไม่อาจทำอย่างนั้นในญี่ปุ่นได้

ทำไมคนไทยจึงเฉยต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน เช่น เจ้าหน้าที่สนามบินซึ่งเห็นการนั่งถ่ายหน้าส้วมของนักท่องเที่ยวจีน เหตุใดจึงไม่บอกหรือแสดงท่าทางให้เขารู้ว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ หรือขืนทำก็อาจเรียกตำรวจมาจัดการ ก่อความเดือดร้อนแก่นักท่องเที่ยวอยู่ดี ทำไมคนเชียงใหม่ไม่พูดไม่เตือน ก่อนที่จะสรุปลงท้ายว่าไม่ต้องการนักท่องเที่ยวจีน

ครูของผมคนหนึ่ง คือศาสตราจารย์เฮอเบิร์ต ฟิลลิปส์ ศึกษาบุคลิกภาพของชาวนาไทยแล้วอธิบายว่า ชาวนาไทยหรือคนไทยไม่นิยมความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า แต่จะใช้การนินทาแทน จนกลายเป็นกระแสสังคมกดดันให้ผู้ล่วงละเมิดประเพณีหรือความชอบธรรมใดๆ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในที่สุด วิธีนี้ใช้ได้ผลในหมู่บ้าน แต่ใช้ไม่ได้ผลเลยกับนักท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของชุมชน ไม่กี่วันเขาก็กลับบ้าน มีนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มาแทน การนินทาจึงไม่ได้ผลอะไร เพราะเขายังไม่ทันได้รับกระแสกดดันทางสังคมแต่อย่างใด หรือกว่าจะกลายเป็นกระแสสังคมที่กดดันจนนักท่องเที่ยวรู้สึกได้ ก็อาจแรงเกินไปจนคนจีนไม่กล้ามาเที่ยวเมืองไทยอีก

อันที่จริง การนินทาซึ่งเคยเป็นกลไกควบคุมทางสังคมนั้น ในเมืองไทยปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลไปหลายด้านแล้ว ไม่เฉพาะแต่แก่นักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ใช้กับอำนาจต่างๆ ก็ได้ผลน้อยลงเต็มที เพราะ "ปากหอยปากปู" ไม่ก่อให้เกิดกระแสกดดันทางสังคมแต่อย่างใด

 

..................

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน  24 มีนาคม 2557)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline

อ่านล่าสุด  คน--> FB COMMENT -->


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.