นักวิชาการฟันธง!! O-NET คำตอบปลายเหตุ
 


นักวิชาการฟันธง!! O-NET คำตอบปลายเหตุ


นักวิชาการฟันธง!! O-NET คำตอบปลายเหตุ

คะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ประจำปีการศึกษา 2556 เกือบทุกวิชามีคะแนนต่ำกว่าครึ่ง สวนทางกับความพยายามในการปฏิรูปการศึกษา แนวทางสอน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพมากกว่านี้ นอกจากนี้ เริ่มมีข้อสังเกตกันแล้วว่า "สอบโอเน็ต" อาจไม่ใช่ทางการของคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น...

ในเวทีการพูดคุยโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้คัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาในทุกสังกัด ที่เคยทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 ได้ทำงานต่อยอด และเพิ่มประเด็นสุขภาวะที่ดีให้โรงเรียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศธ.สนใจแต่คะแนน ละเลยสอนทักษะชีวิต

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นขึ้นมาอย่างถูกจุด ชัดเจนว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาฯ ให้ความสำคัญกับคะแนนสอบมากจนเกินไป จนหลงลืมการสอนให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิต และเรื่องคุณธรรม จริยธรรม

"เราจะรอรัฐบาลกลางมาปฏิรูปการศึกษาไม่ได้แล้ว อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการยังบ้ากับคะแนน O-NET จะเอาเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามาวัดเด็กเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถวัดได้เลย เพราะเด็กที่อยู่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หรือเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แม้ว่าจะไม่เก่งด้านวิชาการ แต่มีทักษะชีวิตที่ดี มีงานทำ ยกตัวอย่างคะแนนโอเน็ตที่ออกมานั้น สะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงอย่างหนึ่ง คือ ศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องคะแนนมาก ส่งผลให้ครูและนักเรียน รวมถึงครอบครัวมีความกดดัน ต่อไปเด็กก็จะไปกวดวิชามากขึ้น ครูจะมุ่งแต่ติววิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่สอนทักษะชีวิต ระบบคุณธรรม จริยธรรม ก็หายไป" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ลงทุนด้านการศึกษาสวนทางความจริง?

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า นโยบายปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน เป็นการลงทุนที่สวนทางกับความเป็นจริง ทำให้เกิดปัญหาสังคมหลายประการ ซึ่งการลงทุนดังกล่าว มุ่งกับระดับอุดมศึกษามากเกินไป จนทำให้ละเลยการศึกษาขั้นปฐมวัย ส่งผลให้เกิดความเสียหาย คือ สังคมไทยเสื่อมหนัก การเมืองรุนแรง โรงเรียนหลวม ครอบครัวตาย วัตถุนิยมล้น ศีลธรรมจาง

ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท สสค.เกี่ยวกับรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย พบว่า หากนำเงินมาลงทุนในระดับปฐมวัยนั้น จะได้กำไรคืนกลับสูงถึง 7 เท่า คือ ลงทุน 1 บาท ได้คืนมา 7 บาท ฉะนั้น การลงทุนดังกล่าว จะส่งผลที่ดีและต่อเนื่อง และการที่รัฐบาลนั้นปัดทิ้งเรื่องการลงทุนกับเด็กปฐมวัย ทำให้ประเทศเสียโอกาส ซึ่งจากการศึกษาในระดับประถมศึกษา รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาสในปี 2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาต่อหัวที่รัฐบาลลงทุนต่อเด็กระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษานั้น สูงกว่าการลงทุนในระดับปฐมวัย โดยลงทุนระดับปฐมวัยเพียง 23,282 บาท ขณะที่ลงทุนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา จำนวน 26,332 บาท และ 24,933 บาทตามลำดับ

ดังนั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ เพราะสมองเด็กจะเติบโตสมบูรณ์ทั้ง IQ และ EQ ในระดับปฐมวัยสูงถึง 80% หากขาดเงินอุดหนุนการเตรียมพร้อมเด็กในเรื่องการอ่านการเขียน เรื่องคุณธรรมและคุณลักษณะที่ดีนั้นก็จะไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว คือ การลงทุนทางการศึกษากับเด็กปฐมวัยใน 3 ระบบ 1.การศึกษาในระบบ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ด้อยโอกาส 2.โรงเรียนพ่อ แม่ โดยต้องสอนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ หรือพ่อแม่ที่ปล่อยลูกไว้เป็นภาระปู่ย่า ตายาย และ 3.โรงเรียนชุมชน ที่มีพื้นที่เสี่ยง มีอบายมุข

ดังนั้น การลงทุนในช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตทางปัญญา และสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้ ฉะนั้น เราต้องปรับแนวคิดที่จะแก้ไขวิกฤติให้คนในชาติเสียใหม่ คือ ต้องไม่มองขึ้นข้างบน แต่มองจากคนข้างล่าง โดยเฉพาะการศึกษาปฐมวัยที่อยู่ที่ท้องถิ่น ซึ่งมีการกระจายอำนาจที่ดีแล้ว เราจึงต้องเน้นเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเหมือนให้เด็กมาอยู่รวมกัน กินนอนเล่น แต่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เติบโตได้จริง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในโครงการนำร่องเพื่อขยายโอกาสการศึกษาในช่วงปฐมวัยในทุกมลรัฐด้วยเงินภาษีบุหรี่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายหลักของ นายบารัค โอบามา โดยมีการอุดหนุนเงินทุนลงไปยังการศึกษาระดับปฐมวัย ในระยะเวลาติดต่อกันกว่า 10 ปี (ก.ย. 2556) โดยผลสรุปจากกรณีศึกษามากกว่า 100 กรณี พบข้อสรุปที่ตรงกันว่า การลงทุนในช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตทางปัญญาและสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้ในทุกมลรัฐ และพบว่า โปรแกรมนี้ไม่เพียงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านทักษะในการตัดสินใจที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะในการตัดสินใจเพื่อเลือกให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคตได้อย่างไรด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพที่แข็งแรง

 

ความสำคัญของสุขภาวะเด็กในโรงเรียน

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า นอกจากเรียนการศึกษาแล้ว ยังต้องเร่งสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็ก ทั้งการบริหารจัดการภายในโรงเรียน สภาพแวดล้อมของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอน และการมีส่วนร่วมของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองของเด็กด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและสุขภาพที่ดี ว่า ร้อยละ 77.2 ของผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก และมีเพียงร้อยละ 29.8 ที่ระบุว่า เด็กที่จบวิทยาลัยมีสุขภาพดี ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาล หรือนโยบายจะเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญที่ควรคงอยู่ คือ การทำงานกับพื้นที่จากล่างขึ้นมา โดยครู คือ คนสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน หากทำได้ 30-40% ในแต่ละจังหวัดก็จะเกิดแรงกระเพื่อม ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่สะท้อนภาพได้ชัดขึ้น

ตัวอย่างโรงเรียนดีเด่นด้านการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้

โรงเรียนบ้านห่างหลวง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ คือ หนึ่งในโรงเรียนที่ทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2554 โดยนายสมพงษ์ แสนสำโรง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 1 มีการสร้างนวัตกรรม “มัลติพอยท์” คือ การใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อกับเมาส์ 40 อัน เนื่องจากโรงเรียนอยู่บนดอยไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้โซลาร์เซลล์แทน ส่งผลให้เด็กเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เมื่อโรงเรียนนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ โดยการนำสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ซึ่งเน้นเรื่องของการส่งเสริมการอ่านภาษาไทยให้ชัดเจนถูกต้องเป็นหลัก ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่า

 

"ใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ ให้เด็กได้ร่วมตอบคำถาม ได้ลากเส้น เติมคำ ซึ่งสามารถทดสอบเด็กได้เป็นรายบุคคล เมื่อรูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป การตอบสนองของผู้เรียน การอ่าน การเขียน การออกเสียงชัดเจน ทำให้เด็กมีความสุข สนุกในการเรียนรู้ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ซึ่งโรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ผมเป็น ผอ.ตอนนี้ก็นำไปใช้" นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมมัลติพอยท์ได้ขยายเครือข่ายไปยัง สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และเขต 2 เกือบทุก ร.ร. รวมถึง กศน.ด้วย เพราะมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ร.ร.ขนาดเล็ก ที่มีครูไม่เพียงพอ และด้วยความห่างไกล หากได้รับการสนับสนุนเรื่องสุขภาวะเพิ่มเติมเข้าไป ก็จะช่วยต่อยอดให้เด็กสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นการบูรณาการผนวกทั้งสาระการเรียนรู้และการมีสุขภาวะที่ดีลงไปด้วย ทั้งนี้ จะมีการต่อยอดจัดสอนทวิภาษา คือ ภาษาถิ่น และภาษาไทย ผ่านนวัตกรรมมัลติพอยท์ เพื่อให้เด็กได้อ่านได้ออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้อง คาดว่าปี 2558 ภาคเรียนที่ 1 จะสามารถนำไปใช้ได้

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

มาถึงตอนนี้ ถือว่า ไทยเริ่มนับเวลาถอยเปิดประตูสู่อาเซียนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นระบบการศึกษาไทย เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนของชาติให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นกลไกช่วยเสริมสร้างสันติสุข ความร่วมมือในชาติและในภูมิภาคอาเซียนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ทิศทางและแนวโน้มการปฏิรูประบบการศึกษา ควรมุ่งส่งเสริมให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพสูงสู่พื้นที่ยากลำบาก จึงจะเป็นแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสทุกประเภทต่อไป.

ดร.อุบล เล่นวารี

ดร.อุบล เล่นวารี

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์

นายสมพงษ์ แสนสำโรง

นายสมพงษ์ แสนสำโรง

 

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.