*106# รหัสชัตดาวน์ ปิดเน็ตฟรีทุกค่าย
 


*106# รหัสชัตดาวน์ ปิดเน็ตฟรีทุกค่าย


*106# รหัสชัตดาวน์ ปิดเน็ตฟรีทุกค่าย

ก่อกิจ

ไปต่างประเทศ...เน็ตรั่ว ต้องเสียเงินจ่ายค่าโทรศัพท์หลักพัน...หลักหมื่น...หลักแสนบาท ป้องกันได้แล้ววันนี้ เพียงกด *106# แล้วกดโทร.ออก

“โอปะเรเตอร์ทุกรายจะตกลงกันว่าจะใช้การกด *106# เท่านี้จะเป็นการตัดการใช้ข้อมูลได้ทุกระบบ ทำให้ทุกคนที่เดินทางไปต่างประเทศแล้วค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ตจะได้ไม่รั่ว”

ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ภารกิจโทรคมนาคม ยืนยัน

คำถามต่อมา...มีว่า รหัสที่ว่า *106# ต้องกดในเมืองไทยหรือเมืองนอก? ก่อกิจ ตอบว่า ต้องกดในเมืองไทย แล้วก็ใช้ได้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง จัดทำแค่สติกเกอร์เอาไว้ติด แล้วบอกพรรคพวกเพื่อนฝูง จึงยังมีคนรู้น้อยอยู่

“ปีที่แล้วงบไม่มี...มาถึงปีนี้ก็เริ่มมีงบทำไปติดไว้ที่สนามบินแล้ว”

ก่อกิจ บอกว่า การส่งรหัสปิดเน็ตที่ว่านี้ ส่งไปแล้วโอปะเรเตอร์แต่ละรายก็จะส่งเอสเอ็มเอสกลับมายืนยันว่าปิดแล้ว แล้วถ้าจะเปิดใหม่จะเปิดใช้ได้อย่างไร

“ตอนปิด...ใช้รหัสเดียวกันหมดทุกค่าย แต่ตอนเปิด...รหัสกดต่างกันขึ้นอยู่กับค่ายใครค่ายมัน”

ถึงตรงนี้ให้รู้ต่อไปอีกว่า ผู้ใช้บริการจะมีหลักฐานเป็นเอสเอ็มเอส เก็บไว้ กลับมาถ้าเน็ตรั่วก็นำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ กรณีล่าสุดเน็ตรั่วเป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียว...มีคนโดนค่าบริการอินเตอร์เน็ตมากถึง  1,400,000 บาท เดินทางพิธีฮัจญ์ราวเดือนกว่าๆ พบว่ามีการส่งรูปมาตลอด ใช้ปริมาณการส่งข้อมูลดาต้าค่อนข้างเยอะ

อาจเป็นกรณีศึกษา...ปัญหากรณีนี้เป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผู้ใช้บริการรายนี้ใช้บริการมือถือค่ายดีแทค ซึ่งค่ายมือถือแจ้งว่าเขาก็ต้องจ่ายค่าบริการข้อมูลกับบริษัทซาอุดี้ไปร่วม 9 แสนบาท...กระบวนการคลี่คลายเข้าสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ย แต่น่าจะไม่ยอมกัน เรื่องจึงถึงศาล

“ปัญหาอยู่ที่ว่ามีการใช้งานจริง เส้นแบ่งตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญ” ก่อกิจ ย้ำ

“การใช้” หรือ “ไม่ใช้”...เป็นกรณีที่น่าสนใจ สมมติว่าใช้มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หรือไอโอเอสแอปเปิล ไม่ต้องส่งแชตหรือเมล์อะไรเลย แต่ตัวเครื่องโทรศัพท์เอง...ระบบจะมีการวิ่งเช็กข้อมูลต่างๆอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว นับรวมไปถึงการอัพเดตโปรแกรมตัวไหนบ้าง

“วันๆหนึ่งเฉลี่ยแล้วก็เป็น 10 เมกะไบต์ เมืองนอกขายค่าบริการอินเตอร์เน็ต 10 เมกะไบต์จำนวนหลายบาทนะ ส่งรูปครั้งละเมกฯครึ่ง... เมกฯครึ่ง มี 40 รูป แชตทั้งวัน ดูวีดิโอด้วย ค่าบริการทำให้ถึงกับล่มจมได้ทีเดียว”

รหัสกดปิดบริการอินเตอร์เน็ต กด *106# แล้วกดโทร.ออก...โทร.ฟรี ไม่เสียค่าบริการ เป็นการปิดดาต้า จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทาง
ถามต่อไปอีกว่า...กรณีเน็ตรั่วเป็นล้านฯ ค่ายมือถือไม่สนใจดูแล หรือ คอลเซ็นเตอร์ไม่โทร.หาลูกค้าบ้างเลยหรือ? เท่าที่ติดตามข้อมูลปัญหา ก่อกิจอธิบายว่า เขาไม่ได้โทร. แต่ส่งเอสเอ็มเอสเป็นข้อความไปแต่เจ้าตัวไม่ได้ อ่าน เพราะคิดว่าตั้งลิมิตเอาไว้แล้วว่าไม่เกิน 6,000 บาท ก็เลยยังส่งได้

แต่การจำกัดการใช้ด้วยวงเงินเอาไว้ ต้องเข้าใจว่าเวลาไปใช้ในต่างประเทศระบบอาจจะรั่วได้ ก็เลยเกิดปัญหาเป็นกรณีถกเถียงกันขึ้นมา  “กสทช.ยืนกลางๆ พยายามคุ้มครองผู้บริโภค แต่ว่าจะไปได้แค่ไหน เพราะมีการใช้จริง แต่ก็ไม่สบายใจกับบิลค่าโทรศัพท์ที่เป็นหลักล้านบาท...”

ที่ผ่านมาจึงมีการนัดประชุมแก้ปัญหาในเรื่องนี้ มีทางไหนบ้างที่จะปิดระบบด้วยการกดรหัสเลขเดียวกัน เหตุเพราะผู้ใช้บางรายสมมติว่าใช้โทรศัพท์ไอโฟนกว่าจะปิดการใช้เน็ตหรือข้อมูลได้ก็ต้องคลิก 4-5 ครั้ง ถ้าเป็นแอนดรอยด์ก็ 3-4 ที ซึ่งแต่ละคนก็มีความรู้กับตัวเครื่องไม่เท่ากัน...ก็จะกลายเป็นปัญหา

“รหัสกดปิดเน็ต ทำเพื่อความง่าย ผู้ใช้คนไหนก็ทำได้ สะดวกเพราะเราอยากอยู่ใกล้ชิดประชาชน กิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. งานด้านโทรคมนาคม อยู่กับชีวิตผู้คนตลอดเวลา...วันนี้โทรศัพท์มือถือไม่ใช่แค่โทรศัพท์อีกต่อไปแล้ว แต่ทำหน้าที่ส่งรูป ส่งตัวหนังสือ ส่งความรู้สึก ส่งหน้าตา คุยเป็นวีดิโอได้ด้วย...”

ดังนั้นปัญหาก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรกับมัน

แรกเริ่มเดิมที รหัสปิดเน็ต *106# ลงทุนไป 20,000 กว่าบาท เป็นค่าสติกเกอร์แค่นั้นเอง เพราะจริงๆเป้าหมายก็คือผู้ใช้บริการที่เดินทางไปต่างประเทศ คนในประเทศไม่ได้ทุกข์ร้อนหรอก แต่ถ้ารู้ว่าขนาดของปัญหามันใหญ่ขนาดไหน...วันนี้ต้องยอมรับว่าก็เพิ่งมีงบไม่กี่บาท ได้ติดป้ายประชาสัมพันธ์มาอันหนึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ

บางด้าน บางมุม ของ กสทช.ในมุมดีทำแต่ด้านดีๆก็มีเยอะ ก่อกิจ

บอกว่า เขาไม่ได้อยู่เป็น กสทช.ที่นั่งพูด ที่บางคนก็มีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง เขาว่า...ถ้าจะกรุณา ก็ยังมีเรื่องดีๆของ กสทช.ฝ่ายประจำ

“บางเรื่องมติบอร์ดสั่งมาก็ต้องทำ ตั้งงบมาอย่างนี้ ใช้อย่างนี้ก็ต้องทำ”

วกกลับมาที่เรื่องดีๆ กรณีเน็ตรั่วเสียเงินเป็นล้านฯ ใครรู้ก็ต้องร้องโอ้โห...ก่อกิจ บอกว่า แต่ในความเป็นจริงน่าจะมีคนเสียหลักหมื่นอยู่เยอะ โดยไม่รู้ตัวแล้วก็จ่าย ถ้าสงสัยโทร.ถามคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่ก็มีวิธีลดราคา

บางค่ายใช้วิธีจำกัดวงเงิน...ถ้าเกินทุกกี่บาทระบบจะตัด แล้วก็จะมีคนโทรศัพท์ไปแจ้ง ซึ่งค่ายมือถือก็ต้องเสียเงินมากมายในการติดต่อ ก็จะทำให้ค่าบริการแพงขึ้นไปในตัว

“ถ้าตัดโดยอัตโนมัติก็จะง่าย ต้นทุนไม่สูง...เหมือนต่างประเทศพอหมดปุ๊บก็ตัดเลย ซื้อ 100 ใช้ครบแล้วก็ตัดทันที ตรงไปตรงมา...

สำหรับคนไทยคงไม่เหมาะถ้าหมด 100 บาท แล้วตัดปุ๊บ...ก็จะเจอแบบว่า เธอรู้ไหมฉันใคร...ก็ซวยแล้ว ก็ต้องลงทุนให้คอลเซ็นเตอร์โทร.กลับไปจะตัดแล้วจะต่อไหม”

คิดดูว่าทั้งค่าใช้จ่ายในการใช้คน ทั้งค่าใช้จ่ายในการโทร.ไปต่างประเทศจะวิ่งไปไหน สุดท้าย...คิดแบบเศรษฐศาสตร์ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะวิ่งวกกลับมาที่ราคาค่าโทรศัพท์อยู่ดี

เมื่อวังวนปัญหาเป็นเช่นนี้ก็กลับมาแก้ที่ต้นเหตุ รหัสชัตดาวน์ *106# โทร.ฟรีไม่เสียเงิน ให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าค่ายไหนได้ดูแลตัวเอง

ย้ำปัญหาที่เจอส่วนใหญ่ คนที่ไม่รู้เรื่อง...ผู้หลักผู้ใหญ่ อายุมากกว่า 50 ขึ้นไป ลูกหลานเอาไอโฟนมาให้ใช้ ใช้ไม่เป็น ปิดเน็ตก็ไม่เป็น...เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว พี่เขยไปเมืองจีนโดนไป 40,000 บาท ก็คือไม่ได้ปิดเครื่องแล้วก็ส่งไลน์ ส่งรูปกลับมาให้ดู

ก่อกิจด้วยหน้าที่ก็ช่วยติดต่อค่ายมือถือ ลดค่าบริการให้ได้เต็มที่ก็หมื่นเดียว แต่ทำมากกว่านี้คงไม่ได้ อย่างที่รู้อยู่แล้วว่าตามระบบค่ายก็ต้องไปจ่ายค่าบริการกับเครือข่ายมือถือในต่างประเทศเช่นกัน

รหัสชัตดาวน์ *106# ปิดเน็ตโทร.ฟรีไม่เสียเงิน ก่อกิจ รองเลขาธิการ กสทช. ภารกิจโทรคมนาคม ย้ำทิ้งท้ายว่า เป็นคนละเรื่องกับปิดวอยซ์
โรมมิ่งนะ ไปเมืองนอกก็ยังโทร.ได้ปกติ แต่รหัสนี้เป็นการปิดเฉพาะดาต้าหรือข้อมูล ซึ่งปิดในประเทศก็ได้ ผู้ที่ใช้เน็ตรายวัน...รายเดือนอยากปิดก็ปิดได้เลย อยากหยุดใช้อินเตอร์เน็ตก็กดปิดได้เลย

เพียงแต่ว่า จะเปิดใช้บริการอินเตอร์เน็ตได้อีกครั้ง ต้องโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ ใช้เวลาราวๆครึ่งชั่วโมงระบบจึงจะเปิดใช้งานได้เป็นปกติ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.