ศธ.จ่อยกเครื่องหลักสูตร ภาษาอังกฤษเด็กไทย
 


ศธ.จ่อยกเครื่องหลักสูตร ภาษาอังกฤษเด็กไทย


ศธ.จ่อยกเครื่องหลักสูตร ภาษาอังกฤษเด็กไทย

ศธ.เปิดร่างปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษ 6 แนวทาง ให้เรียนรู้แบบธรรมชาติ เน้นการสื่อสาร ฟัง-พูด ด้าน จาตุรนต์ ชี้ คุณภาพภาษาของประเทศยังไม่น่าพอใจ ต้องปรับปรุงอีกมาก...

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแนวปฏิบัติ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง "นโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน" จัดโดยสถาบันภาษาอังกฤษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทย เน้นการอ่านและเขียน ทำให้นักเรียนไม่สามารถจะสื่อสารได้ แม้เรียนภาษาอังกฤษมา 16 ปี ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายในหลายประเด็น รวมทั้งการเปรียบเทียบระหว่างการสอนของครูที่อาจผิดพลาด กับการสอนด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องกว่า ดังนั้น ศธ.จำเป็นต้องจัดทำประกาศเรื่องนโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาครู โดยร่างแนวทางปฏิบัติ นโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมี 6 ข้อ ได้แก่

1) การใช้กรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล คือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) เป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ออกแบบหลักสูตร พัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู และกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้

2) ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ โดยเน้นการสื่อสาร (Communicative Language Teaching : CLT) เริ่มจากการฟัง พูด อ่าน และเขียน ตามลำดับ

3) ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานหลัก ด้วยหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน ครู วัสดุอุปกรณ์ ตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษาและความถนัดสนใจของผู้เรียน

4) ส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ได้แก่ การขยายโครงการพิเศษด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เช่น English Program, Mini English Program, English for Integrated Studies พัฒนาห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารทางสังคม ด้านวิชาการ ห้องเรียนสนทนาภาษาอังกฤษ และการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประกอบอาชีพ การจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นในช่วงปิดภาคเรียนและค่ายนานาชาติ การเพิ่มชั่วโมงเรียนและการเรียนอย่างต่อเนื่อง การจัดสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศเพื่อกระตุ้นการฝึกทักษะการสื่อสาร การประกวดแข่งขันและจัดกิจกรรม รวมทั้งการสอนวิชาสนทนาภาษาอังกฤษทั่วไป การสอนแบบเข้มข้น รวมถึงการจัดเป็นวิชาเลือก

5) ยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ที่เน้นการสื่อสาร (CLT) และเป็นไปตามกรอบความคิด CEFR โดยเริ่มจากการประเมินความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษสำหรับครู ฝึกอบรมครู ตลอดจนพัฒนาระบบติดตามแก้ปัญหาและช่วยเหลือครูอย่างเป็นระบบ และจัดระบบฝึกฝนและสอบวัดระดับความสามารถแบบออนไลน์

6) ส่งเสริมการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความสามารถของครูและนักเรียน ส่งเสริมการผลิต การสรรหา e-Content Learning Applications แบบฝึกและแบบทดสอบที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการฟัง การออกเสียงที่ถูกต้อง Phonics จากสื่อดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ยังกล่าวอีกว่า ทักษะภาษาอังกฤษของประเทศนั้นยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจอย่างมาก ถือได้ว่าล้าหลังในกลุ่มเอเชีย และอาเซียน ซึ่งต้องเร่งปรับปรุง โดยการใช้วิธีการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่ต้องใช้เวลาในการปรับหลักสูตร และการสื่อภาษา นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องของการวัดผลก็เป็นส่วนที่สำคัญ ที่จะเข้ามาประยุกต์ และใช้เป็นตัวผลักดันให้อยู่ในระดับสากลได้.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.