กรมศิลป์จัดแสดง 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชาติพันธุ์ตระกูลไท
 


กรมศิลป์จัดแสดง 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชาติพันธุ์ตระกูลไท


กรมศิลป์จัดแสดง 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชาติพันธุ์ตระกูลไท

กรมศิลป์นำ 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก ออกมาให้ประชาชนสักการะ เริ่มวันแรก 11 มี.ค.นี้ พร้อมขอความร่วมมือ บูชาด้วยพวงมาลัย ห้ามจุดธูปเทียน...

วันที่ 9 มี.ค นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมศิลปากรได้ ข้อสรุปในการนำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จำนวน 9 องค์ มาจัดแสดงนิทรรศการ “พุทธประติมา : สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ ความศรัทธา ในสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท” โดยจะเปิดให้ประชาชนสักการะ ที่บริเวณโถงกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. - 15 เม.ย. นี้ ระหว่างเวลา 09.00 -16.00 น.

สำหรับความเชื่อในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 10 รูปนี้ มีความหลากหลาย ทั้งทางด้านโชคลาภ ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้พ้นทุกข์พ้นภัย ที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ โดยตนขอความร่วมมือประชาชนให้นำดอกไม้มาสักการะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ห้ามการจุดธูปเทียน และห้ามนำเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ มาถวาย เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุ ที่สำคัญจะต้องให้ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ด้วย ขณะที่กรมศิลปากร จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 

สำหรับรายชื่อ พระพุทธรูปที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย
1. พระพุทธรูปไม้ลงรักปิดทอง ทรงเครื่องประทับยืน ศิลปะพื้นถิ่นไทลาว พุทธศตวรรษที่ 23 ขนาดสูงรวมฐาน 159 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระพาหาปล่อยลงข้างพระวรกาย กางออกเล็กน้อย ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองหันเข้าด้านใน ทรงศิราภรณ์มงกุฎยอด กรองศอ ห้อยทับทรวงและสังวาล ทรงพาหุรัด ทองพระกร และทองพระบาท ปั้นเหน่งรูปประจำยามหน้านางประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย


2. พระพุทธรูปประทับยืนไม้ปิดทองปางห้ามสมุทร ศิลปะพื้นถิ่น พุทธศตวรรษที่ 25 มีความสูง 9 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ มุมพระโอษฐ์โค้งขึ้นเล็กน้อย เม็ดพระศกนูนค่อนข้างแหลม พระเกตุมาลานูนสูงรูปมะนาวตัด พระรัศมีเป็นเปลวเพลิงสูง ครองจีวรห่มคลุมบางแนบพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองยกตั้งหันฝ่าพระหัตถ์ออกแสดงปางห้ามสมุทร

3. พระพุทธรูป ไม้ปิดทอง ปางห้ามสมุทร ศิลปะพื้นถิ่น พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดสูง 89 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรมองตรง พระกรรณยาวปลายงอนออก เม็ดพระศกกลมเล็กเรียงต่อกัน พระเกตุมาลารูปขันคว่ำ พระรัศมีเปลวเพลิง พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกเสมอพระอุระ แสดงปางห้ามสมุทร ครองจีวรแนบพระวรกาย บั้นพระองค์มีแนวรัดประคดคาดทับแนวผ้าจีบด้านหน้า ประทับยืนในท่าพระบาททั้งสองเสมอกัน ด้านล่างมีเดือย

4. พระพุทธรูปปางไม้ปิดทองมารวิชัย ศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ พุทธศตวรรษที่ 25 ขนาดหน้าตักกว้าง 33 ซม. สูงรวมฐาน 80.5 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์เหลี่ยมค่อนข้างเสี้ยม พระเนตรเหลือบต่ำเป็นเส้นตรง พระโอษฐ์บางเกือบเป็นเส้นตรงอมยิ้มเล็กน้อยทาสีแดง ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบผ้าขนาดใหญ่ซ้อนทบกันเป็นริ้วหลายชั้น ยาวจดพระนาภีครองจีวรหนาเป็นริ้ว พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย ปลายดัชนีเท่ากัน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร เหนือฐานบัวคว่ำบัวหงาย ท้องไม้สูงคาดด้วยบัวลูกฟัก

5. พระพุทธรูปไม้ปิดทองปางมารวิชัยศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาด: สูงรวมฐาน 91 ซม. หน้าตักกว้าง 26 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์เหลี่ยมค่อนข้างแบน พระนลาฏแบนแคบ พระขนงโก่งเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ มีร่องพระนาสิกกว้างชัดเจน พระโอษฐ์บางอมยิ้มมากทาสีแดง ครองจีวรห่มเฉียงยาวจดพระนาภี ปลายหยักเป็นรูปปีกค้างคาว พระหัตถ์ตัดเท่ากัน พระชงฆ์และพระบาทหนาหยัก ประทับนั่งขัดสมาธิราบ เหนือฐานหน้ากระดานสูงมาก จารึกอักษรธรรมภาษาไทใหญ่ เจ็ดบรรทัด ลงจารึกปิดทองทั้งองค์ยกเว้นเม็ดพระศก

6. พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25-26 ขนาด: หน้าตักกว้าง 25.5 ซม. สูงรวมฐาน 74.4 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเหลือบต่ำ พระโอษฐ์อมยิ้ม ครองจีวรห่มเฉียง จีวรบางแนบพระองค์ สังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ พระหัตถ์แสดงท่าภูมิสปรรศมุทรา ปลายพระหัตถ์เสมอกันประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเหนือฐานบัวคว่ำบัวหงาย


7. พระพุทธรูปไม้ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดสูงพร้อมฐาน 89 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์เสี้ยม เหนือพระนลาฏมีขอบไรพระศก เม็ดพระศกตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิตัดตรงจรดพระนาภี พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานลดหลั่นกันสามชั้นรองรับด้วยฐานเท้า สิงห์และฐานเขียง

8. พระพุทธรูปไม้ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 23 สูงพร้อมฐาน 89 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์เสี้ยม พระขนงโก่งเป็นรูปปีกกา พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิตัดตรงจรดพระนาภี พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานลดหลั่นกันสามชั้นรองรับด้วยฐานเท้า สิงห์และฐานเขียง

9.พระพุทธรูป ไม้ปิดทองประดับกระจก หินอ่อน ทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 23 สูงรวมฐาน 78.3 ซม. ตักกว้าง 51 ซม. พุทธลักษณะ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงเรียว พระเนตรนูน พระโอษฐ์บางอมยิ้มเล็กน้อย เม็ดพระศกกลมพระเกตุมาลาเป็นมวยกลม พระอังสาหนาใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แต่งกายอย่างกษัตริย์ ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก ที่เสื้อมีปีก 3 ชั้น พระเศียร พระหัตถ์ และ พระบาททำด้วยหินอ่อน ถอดออกได้.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.