อาการปากแสบร้อน
 


อาการปากแสบร้อน


 อาการปากแสบร้อน

คอลัมน์ เรื่องฟันFunกับทันตจุฬาฯ โดย ทพ.นพ.ธิติพงษ์ พฤกษศรีสกุล



อาการแสบร้อนในปาก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะปากแห้งจากโรคประจำตัว หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การติดเชื้อในช่องปากโดยเฉพาะเชื้อรา ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอม ภาวะโลหิตจาง ภาวะการขาดสารอาหาร เช่น วิตามิน B1, B2, B6, B12, โฟเลต, สังกะสี, ธาตุเหล็ก โรคของเยื่อเมือกในช่องปาก เช่น ไลเคนเพลนัส (lichen planus) โรคประจำตัว เช่น โรคไทรอยด์ โรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

การไปพบแพทย์ หรือทันตแพทย์เพื่อตรวจและรักษาสาเหตุของอาการแสบร้อนในปากนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการแสบร้อนในปากโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ จะเรียกว่าอาการปากแสบร้อน (burning mouth syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากเยื่อเมือกในช่องปากบางและแห้งมากขึ้นจากอายุที่เพิ่มขึ้น และระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ลดลง ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกรับรสที่เปลี่ยนไป รู้สึกว่าเยื่อเมือกในช่องปากหนา บวมมากขึ้น หรือเหมือนมีเข็มตำ ส่วนใหญ่มักเป็นที่ลิ้น ริมฝีปาก เหงือก หรืออาจเป็นที่เยื่อเมือกทั่วไปในช่องปาก การตรวจในช่องปากจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ของเยื่อเมือกในช่องปาก นอกจากนี้ อาการปากแสบร้อนอาจสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลของผู้ป่วยด้วย

การตรวจวินิจฉัยอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดๆ ที่ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการปากแสบร้อน การรับประทานยา หรือใช้ยาทาเฉพาะที่ในช่องปาก อาจช่วยบรรเทาอาการปากแสบร้อนได้ แต่จะไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสเผ็ด อาหารร้อนๆ รวมทั้งงดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ หรือการเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล สามารถช่วยบรรเทาอาการได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยควรผ่อนคลายและไม่วิตกกังวลจนเกินเหตุ รวมทั้งไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อดูแลสุขภาพฟันและเหงือก รวมทั้งตรวจหาความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนในปาก

หน้า 10 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.