ดีล6แสนล้าน เฟซบุ๊กซื้อวอทส์แอพ ทำไม?
 


ดีล6แสนล้าน เฟซบุ๊กซื้อวอทส์แอพ ทำไม?


 ดีล6แสนล้าน เฟซบุ๊กซื้อวอทส์แอพ ทำไม?

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ [email protected]



ฮือฮากันขนานใหญ่ เมื่อ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง "เฟซบุ๊ก" ตกลงควักกระเป๋า 16,000 ล้านดอลลาร์ บวกกับอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ (ส่วนนี้เป็นการจ่ายให้กับพนักงานของวอทส์แอพ ที่มีทั้งสิ้นแค่ 32 คน) รวมทั้งสิ้นคิดเป็นเงินบาทไทยแล้วชวนให้ตกใจอ้าปากค้างถึง 608,000 ล้านบาท ซื้อกิจการของ วอทส์แอพ แอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารที่เป็นที่รู้จักกันดีนอกตลาดไอทีอเมริกาเหนือ ดีลหนนี้ใหญ่โตขนาดที่ ไบรอัน บลาว ผู้อำนวยการวิจัยแผนกคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทวิจัยด้านไอทีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอย่าง การ์ทเนอร์ ถึงกับบอกว่า เป็นดีลที่อยู่ในระดับบนสุดของบรรดาดีลที่ใหญ่ที่สุดทั้งหลายในแวดวงธุรกิจเลยทีเดียว

ในแวดวงไอที เรียกแอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสาร ทั้งแบบคนสู่คน หรือจากคนเดียวไปยังกลุ่ม อย่างวอทส์แอพ (อเมริกัน) ไวเบอร์ (อิสราเอล-อเมริกัน) ไลน์ (เกาหลีใต้) หรือคาคาโอะ (ญี่ปุ่น) และวีแชท (จีน) ว่าเป็น "แมสเสจจิ้งแอพ" แต่โดยเนื้อแท้แล้ว แอพพลิเคชั่นทำนองนี้ เป็นเครือข่ายสังคมชนิดหนึ่ง ในท่วงทำนองเดียวกันกับเฟซบุ๊ก แอพเพื่อการสื่อสารเหล่านี้ ไม่เพียงส่งข้อความถึงกันได้เท่านั้น ยังสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน วิดีโอ ภาพถ่าย และเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งกันและกันได้เช่นเดียวกัน

เบรนท์ เอีนดาโรลา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยโมบายล์ของ ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน แสดงความเชื่อว่า เฟซบุ๊กเองก็มอง วอทส์แอพ (และแมสเสจจิ้งแอพอื่นๆ) เป็นเครือข่ายสังคมแบบเดียวกับที่เฟซบุ๊กเป็น แต่ขอบเขตเล็กกว่ากันอยู่บ้างเท่านั้นเอง

ถึงแม้จะเล็กกว่า แต่ปรากฏการณ์ที่วอทส์แอพสร้างขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามกัน ทุกวันนี้มีผู้ใช้วอทส์แอพ อัพโหลดภาพเพื่อแบ่งปันกันมากถึง 600 ล้านภาพต่อวัน ใช้เพื่อการสื่อสารด้วยเสียง (โดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์ให้เปลืองสตางค์) มากถึง 200 ล้านครั้งต่อวัน บวกกับการแชร์วิดีโอซึ่งกันและกันอีก 100 ล้านวิดีโอทุกวัน

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ วอทส์แอพถูกมองว่ามีกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มผู้ใช้เดิมของเฟซบุ๊ก และวิธีการใช้ ก็แตกต่างออกไปจากการใช้งานเฟซบุ๊ก

ในขณะที่เฟซบุ๊ก เป็นชื่อที่คุ้นเคยติดปากกันทุกครัวเรือนในสหรัฐอเมริกา แต่วอทส์แอพกลับเติบใหญ่และเป็นที่นิยมกันนอกสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

นั่นหมายความว่า ในทันทีที่ซื้อกิจการวอทส์แอพ เฟซบุ๊กจะได้ฐานยูสเซอร์ใหม่ ที่เป็น "แอ๊กทีฟ ยูสเซอร์" ซึ่งใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ทุกเดือนมากถึง 450 ล้านราย ในสนนราคารายละ 40-42 ดอลลาร์ (ราว 1,200-1,300 บาท) คุ้มค่าหรือไม่ต่อไปก็ต้องติดตามกันดู

แต่ที่ชัดเจนในทันทีก็คือ เฟซบุ๊กสามารถหยั่งเท้าเข้าไปในตลาด "กำลังพัฒนา" ขนาดใหญ่ๆ ทั้งหลาย ทั้งในแอฟริกาและเอเชียได้โดยพลัน ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก ซึ่งราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สมาร์ทโฟน เลือกใช้วอทส์แอพแทนเอสเอ็มเอส

เพราะไม่ต้องเสียสตางค์ เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออก และอินเดีย ว่ากันว่า ประเทศอย่างบอตสวันนา ประเทศเดียว มีแมสเสจจิ้งแอพ ให้เลือกใช้บริการมากถึง 16 ราย สะท้อนให้เห็นความนิยมได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ 69 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นอายุระหว่าง 16-19 ปี ในตะวันออกกลางและแอฟริกา ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ในการสื่อสารแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ตามข้อมูลการสำรวจของ โกลบอล เว็บ อินเด็กซ์

ข้อเด่นอีกประการของแอพพลิเคชั่นทำนองเดียวกันกับวอทส์แอพก็คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์มีน้อยมาก อาศัยปากต่อปาก และ "ความจำเป็นเชิงสังคมในกลุ่มเพื่อนเดียวกัน" เป็นหลักในการกระจายความนิยม ผลก็คือ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งใช้แวดวงที่ใกล้ชิดกันของคนกลุ่มนั้นก็หันมาใช้ตามไปด้วยโดยปริยาย เซโคเอีย แคปิตอล บริษัทเงินทุนเพื่อการเริ่มกิจการ (เวนเจอร์ แคปิตอล) รายเดียวที่ลงทุนร่วมกับ ไบรอัน แอคตันและ จอน คูม สองวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ลาออกมาจากยาฮู เพื่อก่อตั้งวอทส์แอพ ในเดือนมิถุนายน 2009 ยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดของวอทส์แอพเป็นศูนย์ คือไม่มีเลยนั่นเอง

ตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก็คือ การที่ยอดการใช้แมสเสจจิ้งแอพ เติบโตมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา เกือบเป็น 2 เท่าของยอดขยายตัวของแอพโมบายล์อื่นๆ ทั้งหมด ที่ขยายตัวเพียง 115 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากวอทส์แอพเป็นที่นิยมกันในภาคพื้นอเมริกาเหนือ บรรดาผู้ที่น่าจะเสียประโยชน์เห็นจะเป็นเน็ตเวิร์ก โพรไวเดอร์ต่างๆ ที่ตอนนี้ได้ค่าใช้เอสเอ็มเอสจากคนอเมริกันมากถึง 32,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะโตขึ้นเป็น 54,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2016

แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และเฟซบุ๊กจะใส่ใจ หัวใจสำคัญที่สุดในการปิดดีลใหญ่หนนี้ ไม่เพียงเป็นเพราะเฟซบุ๊กมีเงินมากพอที่จะซื้อได้เท่านั้น

ยังเป็นเพราะต้องการให้แน่ใจว่า จะไม่มีใครอื่นใดสามารถก้าวขึ้นมาครอบงำอุตสาหกรรมที่กำลังโตพรวดพราดนี้ได้ นอกจากเฟซบุ๊กเท่านั้นเอง!

หน้า 26 มติชนรายวันฉบับวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.