การตลาดฉบับ นิช มาร์เก็ต ความสนุกของคนอ่าน
 


การตลาดฉบับ นิช มาร์เก็ต ความสนุกของคนอ่าน


 การตลาดฉบับ นิช มาร์เก็ต ความสนุกของคนอ่าน

โดย ดอกฝน


หนังสือที่ขึ้นชื่อว่า Best Seller ของยุคนี้ หนีไม่พ้นนิยายรัก แฟนตาซี การ์ตูนความรู้ รวมถึงฮาว ทู รวยยังไง มีความสุขกับชีวิตได้อย่างไร 

หนังสือประเภทนี้ลูกค้าเดินเข้าไปปุ๊บก็มักเห็นได้ปั๊บ แต่ถ้าไม่ใช่ ไม่ได้อยู่ในหมวดนี้ เวลาจะหาต้องใช้ความพยายามให้มาก โดยเดินไล่ดูกันหน่อย

ยิ่งตอนนี้ยังมีข่าวแว่วออกมาให้ใจหายด้วยว่า ตอนนี้สายส่งและร้านหนังสือรายใหญ่ที่เพิ่งชะงักการเรียกเก็บค่า GP ตามที่ "จรัญ หอมเทียนทอง" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเจรจาไป ก็มีอาการ "ลับลวงพราง" เพราะเมื่อเรียกรวมไม่ได้ ก็ยกหูโทรศัพท์โทร.คุยกับสำนักพิมพ์ทีละราย แถมร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ผูกติดกับห้างสรรพสินค้าก็กำลังจะเปลี่ยนระบบ คือ ถ้าหนังสือไม่ติดอันดับขายดี 1 ใน 5 ของหมวดนั้นๆ ตามระยะเวลาที่ร้านกำหนด ก็จะไม่รับวางขายต่อ เพื่อตัดพื้นที่ให้หนังสือที่มีโอกาสทางการขายมากกว่าทันที

ศึกหนักเลยมาตกที่คนทำหนังสือแนวนิช มาร์เก็ต ที่มีตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นงานวรรณกรรมในความหมายเคร่งครัด, งานเขียนเชิงวิชาการ, งานประวัติศาสตร์ ฯลฯ

ซึ่งจะว่าไปสถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราด้วย เพราะที่ไหนๆ ในโลกก็เป็น ด้วยหนังสือก็ถือเป็น "สินค้า" (ถึงบ้านเราจะอาการหนักหน่อยก็เถอะ) 

การตลาดจึงเป็นเรื่องที่ "สำคัญ" ไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาของหนังสือเลย

สิ่งที่เป็นอยู่คือสำนักพิมพ์จำเป็นต้องระดมความคิดอย่างหนัก ว่าจะทำอย่างไรให้ขายหนังสือได้ฉลุย อะไรที่้ต้องทำมากไปกว่าเพียงแค่ส่งไปวางที่ร้าน แล้วรอคนอ่านมาพบ พิจารณาชื่อนักเขียน อ่านปกหน้า ปกหลัง โปรยปก คำนำ แล้วหยิบไปจ่ายเงิน

โดยที่ละตินอเมริกาซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยอดขายโดยรวมของสำนักพิมพ์ลดกว่า 40% สำนักพิมพ์และร้านหนังสืออิสระ "Eterna Cadencia" ในอาร์เจนตินา ได้ทำโครงการ "The Book that can′t wait" กับหนังสือแนวมนุษยวิทยาของนักเขียนหน้าใหม่ โดยใช้วิธีพิมพ์แบบพิเศษด้วยหมึกล่องหน ซึ่งจะทำให้ความคมชัดของตัวอักษรค่อยๆ จางลงเมื่อสัมผัสกับแสงแดดและอากาศภายในเวลา 2-4 เดือน นั่นหมายความว่าถ้าซื้อและแกะพลาสติกหุ้มหนังสือแล้วปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่สนใจไยดีที่จะอ่าน สักพักก็จะเจอแค่ความว่างเปล่า

ด้วยคอนเซ็ปต์บรรเจิดแบบนี้หนังสือจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 ภายในเดือนแรก แถมยังมีพิมพ์ซ้ำในภายหลัง

สำหรับเมืองไทย ในฐานะที่มีประชากรเฟซบุ๊กอยู่ราว 24 ล้านคน โซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางทำการตลาดที่น่าสนใจสุดสุด และตอนนี้การพิมพ์หนังสือแบบ Limited Edition เพื่อให้คนอ่านรู้สึกถึง "ความหายาก" แล้วใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊กในการสื่อสารประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งในหลายโครงการ อย่างไม่จำเป็นต้องง้อร้านหนังสือ

เพราะการทำให้รู้สึกว่าหนังสือมี "คุณค่า" กลายเป็นจิตวิทยาสำคัญ อย่าง "ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี" ผลงานเขียนของ "ดี บราวน์" ซึ่งแปลโดย "ไพรัช แสนสวัสดิ์" ที่ "สำนักพิมพ์เวย์ ออฟ บุ๊คส์" พิมพ์แบบจำกัดจำนวน และให้สั่งซื้อในเฟซบุ๊กเท่านั้น ก็ขายดีทั้งปกแข็ง ปกอ่อน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสต๊อกหนังสือ ส่วน "สีแดงกับสีดำ" (Le Rouge et le Noir) วรรณกรรมคลาสสิกของ "สตองดาล" ซึ่ง "อำพรรณ โอตระกูล" แปล โดย "สำนักพิพ์สามัญชน" หลังเปิดจองแบบจำกัดเวลาด้วยราคา 1,250 บาท ก็ถูกหนอนหัวใสที่สั่งไปเป็นสิบๆ เล่ม เอาออกมาขายต่อให้คนที่จองไม่ทัน และล่าสุดราคาก็ทะยานไปอยู่ที่ 5,000 บาทแล้ว

ลักษณะ Limited Edition ดังกล่าวกำลังจะเกิดขึ้นกับหนังสืออีกหลายเล่ม เพื่อให้กลายเป็นสิ่งที่นักอ่านต้องเสาะแสวงหา ด้วยแทบไม่มีวางขายในร้านหนังสือทั่วไป อาทิ "นาวานิราศ" รวม 3 เรื่องสั้นขนาดยาว ของ "โจเซฟ คอนราด" ที่แปลโดย "ภัควดี วีระภาสพงษ์" มี "สนธยา ทรัพย์เย็น" เป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดย "สำนักพิมพ์บุ๊คไวรัส", "ธารน้ำพุ (บันทึกการแสวงหาธรรม)" ผลงานของ "รุ่งอรุณ ณ สนธยา (เขมานันทะ)" โดย "สำนักพิมพ์คนสรวล"

"เกมลูกแก้ว" นวนิยายเรื่องสุดท้ายของ "เฮอร์มาน เฮสเส" ผู้แปลคือ "สดใส" ดูแลโดยบรรณาธิการ "สุเมธ สุวิทยะเสถียร" จาก "สำนักพิมพ์ทับหนังสือ" และบ็อกซ์เซตชุดซีไรต์ "แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะจิบกาแฟ" (จเด็จ กำจรเดช), "หัวใจห้องที่ห้า" (อังคาร จันทาทิพย์), "ในเวลา" (แรคำ ประโดยคำ), "บ้านเก่า" (โชคชัย บัณฑิต), "ครอบครัวกลางถนน" (ศิลาโคมฉาย), "แม่น้ำรำลึก" (เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์), "นาฏกรรมบนลานกว้าง" (คมทวน คันธนู)" จากสำนักพิมพ์ผจญภัย

ซึ่งทั้งหมดจะต้องสั่งจองในเฟซบุ๊กเท่านั้น 

"หนังสือแนวนิช มาร์เก็ตจะอยู่รอด ก็จากการตลาดสร้างคุณค่าแบบนี้ล่ะ"


หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ หน้า 19



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.