ผุดเวทีแข่ง หุ่นยนต์บิน ปั้นเยาวชนไทยสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง
 


ผุดเวทีแข่ง หุ่นยนต์บิน ปั้นเยาวชนไทยสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง


ผุดเวทีแข่ง หุ่นยนต์บิน ปั้นเยาวชนไทยสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง

ซีเกท จับมือ กองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ และ มจพ. สานต่อโครงการแข่งขันหุ่นยนต์บินปีที่ 2 หวังกระตุ้นทักษะและแนวคิดในการประดิษฐ์ เสริมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี...

 

บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กองทัพอากาศ สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประกาศจัดการแข่งขันหุ่นยนต์บิน โดยเปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์หุ่นยนต์บินอัตโนมัติ รวมถึงหุ่นยนต์บินแบบบังคับที่ใช้เทคโนโลยี ได้เข้าแข่งขันภายใต้หัวข้อภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยาน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้นิสิต นักศึกษาไทย ก้าวเข้าสู่วิศวกรรมอากาศยานขั้นสูง ตลอดจนกระตุ้นความสนใจและสนับสนุนให้นิสิต นักศึกษา ได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินไร้คนขับเพื่อต่อยอดสู่อากาศยานไร้คนขับ


นายเจฟฟรี่ ไนการ์ด รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการหัวอ่านและบันทึกข้อมูลทั่วโลก บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี กล่าวว่า บริษัทยินดีที่ได้สนับสนุนการจัดแข่งขันภารกิจท้าทายวิศวกรรมอากาศยานเป็นปีที่ 2 ซึ่งนอกจากการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการแข่งขัน บริษัทยังช่วยตั้งโจทย์เพื่อท้าทายศักยภาพและยกระดับความชำนาญของนิสิตนักศึกษา ซึ่งหวังว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะช่วยสร้างแนวคิดใหม่ และจุดประกายความสนใจของบรรดานิสิตนักศึกษาได้อีกทางหนึ่ง

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์บิน ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วิทยาการด้านอากาศ พลศาสตร์ วิศวกรรมอากาศยาน และคอมพิวเตอร์ ไปสู่นักเรียน นักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหากเยาวชนของชาติมีความรู้ ความสามารถ และความใส่ใจในเทคโนโลยีการบินและคอมพิวเตอร์ ก็จะสามารถเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค และรองรับต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นางสาวถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายความสามารถด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์อากาศยาน ทั้งการแข่งขันแบบขับเคลื่อนด้วยผู้ควบคุมระยะไกลและอากาศยานแบบไร้คนขับอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละทีมต้องใช้ความรู้ ความสามารถในการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้อากาศยานหุ่นยนต์ที่มีความสามารถตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ซึ่งทางสมาคมฯ มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

นายภูดิส ลักษณะเจริญ ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวว่า ความท้าทายของการแข่งขันในปีนี้คือการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์จำลองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย การสอดแนม การบินไปและกลับ รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งแต่ละทีมจะทราบในวันแข่งขัน โดยภายหลังการแข่งขัน สมาชิกในทีมทั้ง 4 ทีมที่ได้รับรางวัลจะได้ไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากกองทัพอากาศ ส่วนสมาชิกทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้ไปศึกษาเทคโนโลยี ณ องค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทางออนไลน์ได้ที่ www.temech.com ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 ก.พ.2557 เท่านั้น

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.