ชี้เด็กใช้เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ เทเลนอร์ คาดอีก 3 ปีเพิ่ม 85 ล้านคน
 


ชี้เด็กใช้เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ เทเลนอร์ คาดอีก 3 ปีเพิ่ม 85 ล้านคน


ชี้เด็กใช้เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ เทเลนอร์ คาดอีก 3 ปีเพิ่ม 85 ล้านคน

"เทเลนอร์กรุ๊ป" ประกาศพันธกิจขยายโอกาสเข้าถึงเน็ตอย่างต่อเนื่อง เชื่ออีก 10 ปี เอเชียมีผู้ใช้งานอายุน้อยเพิ่มขึ้นราว 500 ล้านคน ด้านไทยมีเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 14 ปี ถึง 14 ล้านคน เริ่มใช้เน็ตผ่านมือถือ…

เนื่องในวันแห่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยมากขึ้น หรือ เซฟเฟอร์ อินเทอร์เน็ต เดย์ (Safer Internet Day) ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 11 ก.พ. "เทเลนอร์กรุ๊ป" ได้ประมาณการว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี ตลาดเอเชียจะมีกลุ่มผู้ใช้งานอายุน้อยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 500 ล้านคน ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกผ่านอุปกรณ์มือถือ โดยเทเลนอร์คาดว่า ช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ จะมีเยาวชนถึง 85 ล้านคนทั่วโลก เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว

นายซิคเว่ เบรคเก้ รองประธานบริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป และเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุด เทเลนอร์ เอเชีย กล่าวว่า กลุ่มเทเลนอร์เข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อว่า โทรศัพท์มือถือเป็นเทคโนโลยีสำหรับทุกคน ปัจจุบันตลาดกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของโมบายล์ อินเทอร์เน็ต เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นการเปิดโลกและโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนให้สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจาก บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) เกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเยาวชน ระบุว่า ผู้ใช้งานร้อยละ 8 เคยสมัครใช้บริการโดยที่ไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่าย ผู้ใช้งานร้อยละ 10 มีโอกาสที่จะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ผู้ใช้งานร้อยละ 20 มีโอกาสเข้าถึงขอมูลที่มีเนื้อหารุนแรง หรือไม่เหมาะสม และมีกลุ่มผู้ใช้งานอายุน้อยจำนวนครึ่งหนึ่ง ที่อาจเคยโดนกลั่นแกล้งโดยการข่มเหงรังแกผ่านโลกไซเบอร์ (Cyberbullying)

อย่างไรก็ตาม เทเลนอร์กรุ๊ป ถือเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายแรกของโลกที่ทำงานร่วมกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ อินเตอร์โพล (Interpol) เพื่อสร้างฟิลเตอร์ดักจับเนื้อหาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยบริษัทในเครือเกือบทั้งหมดในยุโรปมีการนำฟิลเตอร์นี้ไปใช้ ส่วนในเอเชียเองมีการใช้ฟิลเตอร์นี้แล้วในบังกลาเทศและปากีสถาน สำหรับประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรมและจะนำมาใช้งานในอนาคตอันใกล้

สำหรับประเทศไทยมีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 14 ปี ประมาณ 14 ล้านคน กำลังเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ดีแทค ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเทเลนอร์ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึงการให้ความรู้กับผู้ใช้งานเพื่อให้รู้เท่าทัน

นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ Internet for All ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดีแทคได้ดำเนินโครงการ 1 ล้านชั่วโมงเพื่อเด็กไทย ส่งมอบบริการอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับโรงเรียนในชนบททั่วประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะมอบให้โรงเรียน 200 แห่งในปี 2557 และเข้าถึงมากกว่า 2,000 แห่งภายในปี 2559 และในปีนี้ยังมีโครงการที่จะเชิญชวนพนักงานร่วมแสดงพลังจิตอาสาโดยการออกไปสอนวิธีการ ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ไม่เหมาะสม (Digital Responsibility) ให้กับเยาวชนอีกด้วย

นอกจากนี้ เทเลนอร์กรุ๊ป และบริษัทในเครือทั่วโลก ยังมีการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เทเลนอร์ ร่วมกับ อินเตอร์โพล สร้างฟิลเตอร์ดักจับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งผลให้เกิดการจัดตั้ง "พันธมิตรเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อการต่อต้านเนื้อหาการกระทำผิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนแห่งจีเอสเอ็มเอ" (GSMA’s Mobile Alliance against Child Sexual Abuse Content) ในปี 2551 ทั้งยังร่วมจัดตั้งองค์กรความร่วมมือเพื่อต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์ (Cyberbullying) รวมถึงพัฒนาเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ทราบถึงวิธีการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานอันปลอดภัย และยังร่วมกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกกว่า 30 แห่ง รวมทั้ง กูเกิล ไมโครซอฟท์ และเฟซบุ๊ก ทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพื่อช่วยกันหาวิธีทำให้โลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.