กรมวิทย์ฯ ชูเภสัชพันธุศาสตร์ หนทางป้องกันโรคในอนาคต
 


กรมวิทย์ฯ ชูเภสัชพันธุศาสตร์ หนทางป้องกันโรคในอนาคต


 กรมวิทย์ฯ ชูเภสัชพันธุศาสตร์ หนทางป้องกันโรคในอนาคต

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการศึกษาด้าน “เภสัชพันธุศาสตร์” เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพสูง มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการจัดยาตามลักษณะพันธุกรรม (tailor made medicine) กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวชปฏิบัติ 


ในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องพันธุศาสตร์มานานแล้ว แต่ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับคนไทยโดยตรง ด้วยเหตุที่ประชากรอาเซียน รวมถึงประชากรไทย มีลักษณะพันธุกรรมที่จำเพาะ และมีปัญหาจากการใช้ยาที่แตกต่างกัน ประเทศไทยจึงต้องมีการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของคนไทย และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยาและผลข้างเคียงอื่นๆ ของยาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย จึงได้มีโครงการความร่วมมือกับ Center for Integrative Medical Sciences สถาบัน RIKEN ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ดำเนินการร่วมวิจัยตั้งแต่ปี 2549 เป็นการศึกษา 3 ระยะโดยจะสิ้นสุดในปี 2561 

        
สำหรับการศึกษาระยะแรกได้ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านจุลชีพ (Cotrimoxazole) และยากันชัก (Phenobarbital) พบว่า ส่วนหนึ่งมาจากยีน จึงควรมีการพัฒนาเทคนิควิธีการตรวจยีนเสี่ยงในห้องปฏิบัติการของไทย ส่วนการศึกษาระยะที่ 2 สืบเนื่องจากข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนัง หรือกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome) 


ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เกิดความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลที่มีการรักษาผู้ป่วย ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. และนักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อทำการศึกษายีนกับโรคสตีเวนส์จอห์นสัน รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเภสัชพันธุศาสตร์



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.