"โอเอส" แห่งชาติจีน
 


"โอเอส" แห่งชาติจีน



ระบบปฏิบัติการหรือ Operating System (OS) ในอุปกรณ์มือถือในปัจจุบันกลายเป็นสงครามที่แต่ละค่ายต่างพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานในขั้นสูงสุดเพื่อแข่งขันแย่งชิงลูกค้าผู้ใช้อุปกรณ์มือถือทั่วโลก

นับว่ามีส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำงานของอุปกรณ์มือถือมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีความเสถียร ใช้แอพพลิเคชั่นได้อย่างไหลลื่น ที่โดดเด่นในปัจจุบันหนีไม่พ้นระบบปฏิบัติการไอโอเอสของค่ายแอปเปิล ที่มีแอพพลิเคชั่นรองรับครบครันทุกการใช้งาน

ขณะที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของค่ายกูเกิลแม้จะมาทีหลังแต่มีผู้ใช้มากที่สุด มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด เพราะเปิดเป็นระบบโอเพ่น ทำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือหลายสิบค่ายนำระบบนี้มาใช้กับอุปกรณ์มือถือของตนเอง กับราคาอุปกรณ์ที่ย่อมเยาลงหน่อย ส่วนค่ายๆ อื่น เช่น วินโดวส์โฟนของไมโครซอฟท์ที่จับมือกับโนเกียเอง ในขณะนี้ตัวเลขผู้ใช้เริ่มดีวันดีคืน ขณะที่แบล็กเบอร์รี่กำลังอยู่ระหว่างกู้วิกฤตการณ์เพื่อความอยู่รอด

สำหรับในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าเป็นตลาดที่มีผู้ใช้อุปกรณ์มือถือมากที่สุดในโลก โดยมีระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เป็นเจ้าตลาดกับผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือท้องถิ่น ขณะที่แอปเปิลจับมือกับไชน่าโมบาย เพิ่งเปิดตลาดไอโฟนในปีที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่ค่อยแฮปปี้เท่าใดนักที่เห็นระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่ของต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในประเทศตน จึงได้ประกาศสนับสนุนระบบปฏิบัติการของตนขึ้นมาภายใต้ชื่อ China  Operating  System (COS) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบัน Institute of Software at the Chinese Academy of Sciences (ISCAS) และบริษัทเซี่ยงไฮ้ เลียนตง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยผลักดัน Open Mobile System (Ophone) ขึ้นมาในปี 2552 ที่ผ่านมา แต่เพียงแค่ปีเดียวหยุดทำการพัฒนา ขณะที่ปัจจุบัน COS จะถูกพัฒนาขึ้นจากระบบปฏิบัติการ “ลินุกซ์” ซึ่งเป็นระบบเปิดและนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง ทางการจีนต้องการให้เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำงานได้ดีอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากใช้ของต่างชาติ ทาง ISCAS ระบุว่า ระบบปฏิบัติการไอโอเอสเป็นระบบปิด ขณะที่แอนดรอยด์และวินโดวส์มีปัญหาระบบการรักษาความปลอดภัยต่ำ

มีการคาดการณ์ว่า  COS  มีรองรับอุปกรณ์หลากหลายทั้งสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์พีซีและกล่องรับสัญญาณทีวี เพื่อจะพัฒนาให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการแห่งชาติ และไม่ให้ต่างชาติเข้ามาผูกขาดครอบงำในตลาดจีน อีกทั้งการพัฒนาขึ้นมารองรับการใช้งานให้เหมาะสมกับคนจีนที่ค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาวบ้านเขา

ก็ต้องจับตาดูความสำเร็จในวันข้างหน้าต่อไป.

หนุ่มดิจิตอล
[email protected]



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.