เด็กปิดถนนปล่อยของ เพชรบุรี...ดีจัง เมืองสื่อสร้างสรรค์
 


เด็กปิดถนนปล่อยของ เพชรบุรี...ดีจัง เมืองสื่อสร้างสรรค์


 เด็กปิดถนนปล่อยของ เพชรบุรี...ดีจัง เมืองสื่อสร้างสรรค์




เพชรบุรีปิดถนน!

อ่ะ อ่ะ แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจกันไป เพราะการปิดถนนในตัว อ.เมืองเพชรบุรี ครั้งนี้ เป็นการปิดถนนเพื่อ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์Ž ให้เด็กๆ และเยาวชนได้มา ปล่อยของดีŽ โชว์ศักยภาพตามความถนัดของตัวเอง ในงาน เพชรบุรี..ดีจัง ทั้งเมืองเรืองแสงŽ ณ สี่แยกอรุณประดิษฐ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จ.เพชรบุรี

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า สำหรับจังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดต้นแบบของการขับเคลื่อนเมืองสื่อสร้างสรรค์ ที่เริ่มจากพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ ดำเนินงานโดยกลุ่มเยาวชนไม่กี่กลุ่ม ขยายครอบคลุมไปถึง 30 กลุ่ม ทั่วทั้ง 8 อำเภอ โดยได้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน งานเพชรบุรีดีจัง...ทั้งเมือง และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ ขณะเดียวกัน ก็ตอบโจทย์ในการสร้างสุขภาวะของเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน

เครือข่ายเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของชุมชน ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่เห็นศักยภาพของเด็กมากขึ้น จนเด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และยังสามารถลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนได้Ž รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว

งานนี้ จัดเต็มพื้นที่ใจกลางเมืองเพชร โดยปิดถนนตั้งแต่สามแยกวัดสระบัว ถนนชีสระอินทร์ ถนนคลองกระแชง ในจวน หลังจวน ข้ามฝั่งตลาดริมน้ำ ซอยพานิชเจริญ 1-2 ถนนอนามัย ถนนแปลงนาม เรื่อยไปถึงกาชาด 8

โดยงานจัดขึ้น 2 วัน แบ่งเป็นช่วงกลางวันและกลางคืน ให้เด็กๆ ปล่อยของโชว์ความสามารถทางการแสดงทางศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นละครชาตรี โขน กลองยาว เพลงพื้นบ้าน เต้นรำกระทบไม้

นอกจากนี้ เด็กๆ ยังร่วมแรงร่วมใจกันจัดซุ้มกิจกรรมกว่า 30 ซุ้ม ให้เพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรม เช่น สอนทำศิลปะ สอนทำพวงมโหตร สอนทอผ้า สอนทำโมบายกะเหรี่ยง สอนทำบายศรี สอนสานใบตาล เป็นต้น



งานนี้จึงได้เห็นปรากฏการณ์ เด็กครองเมืองŽ ที่หันไปทางไหนก็มีแต่เด็กๆ อายุตั้งแต่ 5-6 ขวบ ไปจนถึงระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยมาร่วมงานคับคั่ง

กลายเป็น ถนนเด็กเดินŽ เป็นถนนที่ไม่มีพิษภัย หรืออันตรายใดๆ งานทั้งงานจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มใสๆ เสียงหัวเราะสนุกสนาน และความสุขของเด็กๆ ที่มาร่วมงาน

แต่งานจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจของเด็กๆ เยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชรทั้ง 30 กลุ่ม 8 อำเภอ อาทิ กลุ่มลูกหว้า กลุ่มยุวธรรมทูต กลุ่มผ้าทอไทยภูเขา กลุ่มตลาดริมน้ำ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมท่าเขาจิว กลุ่มจันทร์เสี้ยว กลุ่มรักษ์เพลงโนเน กลุ่มมาลัยรามัญ เป็นต้น

ตาลŽ นางสาวศิริขวัญ เทศงาม โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี จากกลุ่มลูกหว้า เพชรบุรี...ดีจัง เป็นตัวแทนเยาวชน จ.เพชรบุรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานนี้ว่า งานเพชรบุรีดีจัง จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จากการรวมตัวของกลุ่มเยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชร โดยเริ่มจากกลุ่มลูกหว้าที่เห็นคุณค่าของงานช่างเมืองเพชร และร่วมกันสืบสานงานช่างให้คงอยู่

งานช่างเมืองเพชรที่มีมาแต่โบราณ กำลังจะสูญหายไปเรื่อยๆ พวกเราอยากจะรื้อฟื้นให้กลับคืนมาอยู่คู่กับเมืองเพชรของเราต่อไปŽ ตาลบอก แล้วเสริมว่า กลุ่มลูกหว้าเริ่มต้นอนุรักษ์งานช่างเมืองเพชร ด้วยการสอนนักท่องเที่ยวให้ทำพวงมโหตร ทุกวันเสาร์ ณ ศาลาเชิงเขา เขาวังเคเบิลคาร์ สถานีรถรางไฟฟ้าพระนครคีรี

เมื่อก่อนตาลก็ไม่รู้จักพวงมะโหตร และไม่เคยสนใจ แต่พอมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และออกบูธสอนทำพวงมโหตร จึงได้รู้ว่า พวงมโหตรประดิษฐ์จากกระดาษว่าว คนเมืองเพชรนำมาใช้ในการประดับตามงานบุญงานบวชŽ

ไม่เพียงสอนนักท่องเที่ยวทำพวงมโหตรเท่านั้น กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ ยังช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์พวงมโหตร โดยการชักชวนชุมชนในตลาดร่วมกันทำ

แรกๆ ที่เริ่มชวน ไม่มีใครสนใจเด็กๆ อย่างเราเลย แต่พอเราไปคุยเรื่อยๆ พวกผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาสนใจ และลองทำพวงมโหตร จนตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ร่วมกันทำพวงมโหตรแขวนทั่วตลาดเต็มไปหมด จากเมื่อก่อนในตลาดจะไม่เห็นพวงมโหตรเลย แต่ตอนนี้พวงมโหตรกลับมาคึกคักอีกครั้ง มองไปทางไหนก็มีเต็มไปหมดŽ

ว่าพลางก็ยิ้มใสออกมาด้วยความภูมิใจ

จากจุดเล็กๆ ที่ช่วย ฟื้นวัฒนธรรมŽ ให้ จ.เพชรบุรี พวกเขาก็รวมตัวกับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ อีก 14 กลุ่มในจังหวัดเพื่อจัดงานเพชรบุรี...ดีจัง ถนนยิ้มได้ ครั้งแรกเมื่อปี 2555 ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ในครั้งนั้น นับเป็นการเริ่มต้นที่นำมาสู่การร่วมแรงร่วมใจของเด็กๆ และคนเมืองเพชรในเวลาต่อมา จนเกิดเป็น เพชรบุรี...ดีจังทั้งเมืองŽ ในปี 2556 ที่ได้รับการพูดถึงกว้างขวางมาก และกลายมาเป็น เพชรบุรี...ดีจัง ทั้งเมืองเรืองแสงŽ ในปี 2557 ที่เด็กและเยาวชนกว่า 1,000 คน ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานขึ้นมา ภายใต้แนวคิด เพชรบุรีมีชีวิตด้วย ศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชนŽ

เรื่องศิลปวัฒนธรรม ถ้ามองในมุมเด็กรุ่นใหม่อาจมองว่าเชย แต่สำหรับพวกเราแล้ว ไม่เบื่อเลยที่ได้อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว ถ้าทำคนเดียวอาจจะเบื่อก็ได้ แต่พอมีเพื่อนมาช่วยกันทำ ได้คุยกันสนุกสนาน ได้เล่นด้วยกัน ก็รู้สึกชอบ และอยากอนุรักษ์สิ่งดีๆ เหล่านี้ให้คงอยู่คู่เมืองเพชรต่อไปŽ

การมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ได้ร่วมกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดีมากๆ อย่าง ตาลŽ จากเมื่อก่อนเป็นเด็กเงียบๆ ใครพูดอะไรด้วยก็ยิ้มอย่างเดียว แต่พอได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ก็เปลี่ยนให้เธอมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าคุย กล้าแสดงออก

พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ เป็นพื้นที่ในบ้าน บริเวณตรงไหนก็ได้ สามารถเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของพวกเราได้หมด อยากให้พื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นเยอะๆ ทั้งในจังหวัดเพชรบุรี และทุกจังหวัดในประเทศไทย แม้จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ แต่มันจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กมีกิจกรรมทำสิ่งที่มีประโยชน์ ดีกว่าให้เด็กไปเข้าร้านเกม มันไม่ค่อยดี แต่การทำกิจกรรมที่มีประโยชน์มันดีกว่า และผลพลอยได้ กิจกรรมที่เด็กทำอาจช่วยสังคมได้ด้วยŽ ตาลกล่าวอย่างฉะฉานด้วยความมั่นใจ ก่อนยิ้มใสออกมา

ในงานครั้งนี้ เด็กๆ ทุกคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป บางคนทำงานเบื้องหน้า บางคนทำงานเบื้องหลัง

หนึ่งในเยาวชนผู้ทำงานเบื้องหน้า ด.ญ.สุนารี ชายาŽ ชาวไทยชนเผ่าปกากะญอ ชั้น ป.6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า กลุ่มของเธอนำการแสดงรำพื้นบ้านรำตะน่า มาแสดงให้ชม และออกบูธสอนทำโมบายกะเหรี่ยง ที่สื่อถึงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าได้เป็นอย่างดี

ชอบให้มีการจัดงานแบบนี้ เพราะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนกล้าแสดงออกมากขึ้น อีกทั้งยังได้เผยแพร่วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ที่พวกเราภูมิใจŽ สุนารีบอก

อีกหนึ่งสาวน้อยที่นำการแสดงมาโชว์ ด.ญ.ปู ทองคำŽ ชาวไทยชนเผ่ากะเหรี่ยง จากโรงเรียนป่าเด็งวิทยา อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เล่าว่า กลุ่มของเธอนำรำลาวกระทบไม้มาแสดง ซึ่งการแสดงนี้จะรำในช่วงเทศกาล เช่น คริสต์มาส วันเด็ก

มาจัดแสดงทางวัฒนธรรมในงานเพชรบุรี...ดีจัง เป็นครั้งแรก ภูมิใจและดีใจมาก อยากให้จัดงานแบบนี้ทุกปี เพื่อที่เด็กและเยาวชนจะได้มีพื้นที่แสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้ยังทำให้เราได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยŽ ปูบอกทิ้งท้าย

จากพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ ให้เด็กได้ร่วมทำกิจกรรมประดิษฐ์พวงมโหตร วันนี้ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งจังหวัดเพชรบุรี

มิใช่เพียงเด็กกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์ แต่เป็นเด็กทั้งจังหวัดเพชรบุรี รวมไปถึงผู้ใหญ่และชุมชน

สมชื่อสโลแกน เพชรบุรี...ดีจังŽ

หน้า 18 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.