<B>‘การศึกษา’ คือเครื่องมือแก้ปัญหาภาคใต้</B>
 


‘การศึกษา’ คือเครื่องมือแก้ปัญหาภาคใต้


<B>‘การศึกษา’ คือเครื่องมือแก้ปัญหาภาคใต้</B>

สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย หรือที่มักเรียกว่า ไฟใต้ เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเหตุการณ์ลอบทำร้าย วางเพลิง วางระเบิด และจลาจลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณปัตตานีมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มบานปลายขึ้นหลัง พ.ศ. 2547

นี่เป็นเสียงปืนดังขึ้น พร้อมประกาศการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ในการกอบกู้เอกราช ปัตตานี ของกลุ่มขบวนการ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตหลังจากนั้นเป็นต้นไป มีเสียงปืนและระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2556 มีหลักฐานของทางราชการพบว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่

เดือนมกราคม 2547 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2556 รวมระยะเวลา 114 เดือน มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้น 13,434 เหตุ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 5,755 ราย บาดเจ็บ 10,201 ราย รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 15,956 ราย

การแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 9 ปี ทั้งยุทธศาสตร์การเมือง การทหาร ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมหาศาล แต่สถานการณ์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ มันมีอะไรต่ออะไรที่เป็นภัยแทรกซ้อนควบคู่กันไปอย่างมากมาย ทั้งปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน อิทธิพลมืด ถึงแม้ว่าระยะหลังนี้ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เริ่มจะจับถูกจุด เกาถูกที่คัน รู้จุดอ่อน จุดแข็ง ของฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแล้วก็ตาม ทำให้มีการปิดล้อม ตรวจค้น สามารถจับกุมและวิสามัญระดับแกนนำคนสำคัญ ๆ มากขึ้น แต่ยังเป็นห่วงของฝ่ายปกครอง หรือฝ่ายปฏิบัติการทางด้านมวลชนอยู่ ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนต่อการปล่อยนโยบายลงมาสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจและงบประมาณให้กับผู้นำท้องถิ่น หากไม่สามารถควบคุมการทำหน้าที่ได้อย่างรัดกุม จะกลายเป็นดาบสองคม อาจทำให้มวลชนของฝ่ายรัฐหดหายไปด้วย และจะกลายเป็นการย้อนยุคเมื่อ 20 ปีก่อน อำนาจมืด อิทธิพลครองเมืองไปโดยไม่รู้ตัว

แต่การแก้ปัญหาที่จะประสบผลในระยะยาวนั้น หนีไม่พ้น การให้การศึกษากับเยาวชนในพื้นที่อย่างจริงใจและจริงจัง ต้องสร้างคนเป็นผู้ที่มีคุณภาพ และรู้จิตสำนึกในความเป็นคนของรัฐบาลไทย หลายฝ่ายได้แนะนำให้รัฐบาลยอมทุ่มงบก้อนโตจำนวนหนึ่ง ในการสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ ในหลาย ๆ ตัวเลือกที่มีการพูดถึง มีตัวเลือกหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้มาก หากรัฐบาลยอมทุ่มงบให้ ก็คือ การจัดส่งเยาวชนเข้าศึกษาในต่างพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา ทาง ศอ.บต.ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม จะได้กับกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ส่วนลูกคนยากคนจนยังไปไม่ถึง

ตัวเลือกที่ว่านี้คือ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดเป็นนโยบายระยะยาว 10-15 ปี จัดสรรทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เป็นช้างเผือกของแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียนเข้าสู่กระบวนการศึกษาที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล โดยกำหนดให้จบระดับปริญญาตรี ทั้งในและนอกประเทศ วิธีการปฏิบัตินั้น ให้จัดสรรทุนให้กับเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละเขตพื้นที่ ตามที่เห็นสมควรว่าเขตไหน จัดสรรให้จำนวนเท่าใด สมมุติว่า เขตพื้นที่ละ 30 หรือ 50 ทุน โดยให้โรงเรียนประถมศึกษาของแต่ละโรงคัดเลือกเด็กที่ได้คะแนนสูงสุดในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียน โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นไทยพุทธ มุสลิม เข้าสู่กระบวนการสอบคัดเลือก จากเขตพื้นที่ โดยปราศจากเส้นสาย ให้เหลือเท่ากับจำนวนที่ได้รับจัดสรรทุนของรัฐบาลของแต่ละปี

เมื่อได้แล้ว ให้รัฐบาลจัดเจ้าหน้าที่เพื่อกำกับดูแลเยาวชนเหล่านี้ แล้วส่งไปศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในตัวเมือง หรือกรุงเทพมหานคร จนจบในระดับปริญญาตรี หรือหากมีความสามารถเหนือกว่านั้น รัฐบาลจัดสรรทุนต่อไปให้เขาไปศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก กันต่อไป หรือแม้กระทั่งไปศึกษาในต่างประเทศ

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ทางรัฐไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ จบแล้วไม่ต้องทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วแต่ความสมัครใจ อาจสอบเข้าทำงานในพื้นที่ภูมิภาคอื่นของประเทศ แต่อาจมีเงื่อนไขว่า เมื่อทำงานครบ 5 หรือ 10 ปี ต้องกลับมาทำงานให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้ต้องเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคตแน่นอน

โครงการดังกล่าว นอกจากจะได้เยาวชนที่มีคุณภาพในการบริหารจัดการ หรือพัฒนาประเทศแล้ว รัฐยังได้รับความรู้สึกที่ดีจากผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ตั้งแต่การรับลูกของเขาไปศึกษาแล้ว ถามว่าหากลูกเขาจบการศึกษาและมีงานทำ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องจะมีความรู้ที่ดีต่อรัฐมากขนาดไหน โครงการดังกล่าว ทางประเทศมาเลเซีย เขาได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานมาแล้ว โดยคัดเด็กที่เรียนดี ส่งไปศึกษาต่อที่เมืองหลวง โดยรัฐออกเงินช่วยเหลือทั้งที่พักอาศัย การกิน ตลอดจนแนะแนวการศึกษา จนจบการศึกษา จะเห็นได้ว่า ประชากรของมาเลเซีย พ่อแม่ฐานะยากจน มีบ้านเป็นกระต๊อบ แต่ภายในบ้านจะมีภาพการรับปริญญาของลูกจากต่างประเทศโชว์ให้เห็นเป็นส่วนใหญ่

ฝากถึงคุณจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยคิดต่อว่าโครงการที่กล่าวถึงนี้ดีหรือไม่อย่างไร ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกของผู้บริหารโรงเรียนเอกชนนั้นเป็นการเดินถูกทางหรือไม่ เพราะบรรดาผู้บริหารเหล่านี้ เขามีโอกาสที่จะดูแลลูก ๆ ของเขาได้อยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือลูกของคนระดับล่างที่มีอาชีพทำนา ทำสวน กรีดยาง เหล่านี้ที่น่าจะเปิดโอกาสให้กับเขามากกว่า หากสามารถทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยเลือดทาแผ่นดิน จากสถานการณ์ความไม่สงบไม่เว้นแต่ละวันนะครับ.

อับดุลการิม รามันห์สิริวงศ์



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.