แคดเมียมในหมึกตากแห้ง (ภาค 2)
 


แคดเมียมในหมึกตากแห้ง (ภาค 2)


แคดเมียมในหมึกตากแห้ง (ภาค 2)

สัปดาห์ที่แล้วคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ผลวิเคราะห์แคดเมียมในหมึกตากแห้ง 4 ตัวอย่าง ที่เก็บจากตลาดสดใน จ.ชลบุรี และในกรุงเทพฯ

พบแคดเมียมปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ซึ่งปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 1.30–1.96 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

วันนี้ “มันมากับอาหาร” ขอนำเสนอเรื่องราวของแคดเมียมในหมึกอีกครั้ง โดยครั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างหมึกสด จำนวน 15 ตัวอย่าง และหมึกตากแห้งจำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตอ่าวเพ อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแคดเมียมปนเปื้อน

ผลปรากฏว่า พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในหมึกสดและหมึกแห้งทั้ง 20 ตัวอย่าง โดยปริมาณที่พบในหมึกสด อยู่ระหว่าง 0.22-0.69 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งถือว่าปลอดภัย

เพราะไม่เกินมาตรฐานของไทยที่กำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนปริมาณที่พบในหมึกตากแห้ง อยู่ระหว่าง 1.12–1.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ พบว่าหมึกตากแห้งทั้ง 5 ตัวอย่าง มีแคดเมียมปนเปื้อนในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป แต่ไม่เกินมาตรฐานของสหรัฐฯ

ปกติอาหารทะเลโดยเฉพาะหมึกและหอยนั้น มักพบว่ามีแคดเมียมปนเปื้อน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากแคดเมียมในอุตสาหกรรมปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำทะเล

แม้กระทั่งปลาน้ำจืด ก็พบแคดเมียมปนเปื้อนได้ หากน้ำหรือดินตะกอนที่พื้นบ่อ หนอง คลอง บึงที่ปลาอาศัยนั้นมีแคดเมียมปนเปื้อน

เมื่อแคดเมียมสะสมในร่างกายมากๆ จะก่อให้เกิดพิษ ทำให้เกิดโรคอิไตอิไต เป็นอันตรายต่อตับและไต ดูเหมือนว่า หมึกที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้จะมีแคดเมียมปนเปื้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น ทางที่ดีไม่ควรทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง ควรทานอาหารให้หลากหลายชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมสารพิษในร่างกาย

เพราะหากร่างกายได้รับในปริมาณไม่มากจะสามารถขับสารพิษออกสู่ภายนอกได้ทัน ไม่เกิดการสะสมและเป็นพิษต่อร่างกาย สุขภาพดีเราเลือกได้.

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.