เผย ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เมินแปรงฟัน ต้นเหตุเด็กไทยฟันผุ
 


เผย ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เมินแปรงฟัน ต้นเหตุเด็กไทยฟันผุ


เผย ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เมินแปรงฟัน ต้นเหตุเด็กไทยฟันผุ

"กรมอนามัย" เผย ผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทย พบเด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุ กว่าร้อยละ 50 ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เมินแปรงฟัน ต้นเหตุสำคัญ เร่งคุมเข้ม-สร้างการรับรู้ ให้ฟันดีถึงอายุสูงวัย...

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า” ปี 2556 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย” เป็นประจำทุกปี เพื่อดูแลและแก้ปัญหาโรคในช่องปากของประชาชนทุกกลุ่มวัย ที่ยังประสบปัญหาฟัน ผุ เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ และการสูญเสียฟัน เพราะจากผลสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของคนไทยโดยกรมอนามัย ล่าสุดปี 2555 พบว่าเด็กวัยเรียนมีปัญหาโรคฟันผุอยู่มาก โดยพบเด็กอายุ 12 ปี หรือประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสบการณ์เกิดโรคฟันผุ ถึงร้อยละ 52.3

รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาฟันผุในเด็ก มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กที่นิยมกินอาหาร หรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็กแล้ว ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร มีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโตและบุคลิกภาพของเด็ก ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียนและปัญหาฟันผุ นำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็ก และอาจสะสมจนต้องสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องรณรงค์ป้องกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินงานโครงการ สพป.อ่อนหวาน เป็นครั้งแรกในปี 2552 เพื่อสร้างการรับรู้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทุกเขต ดำเนินการตามนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเป็น สพป.อ่อนหวาน จำนวน 79 แห่ง จากทั้งหมด 183 แห่ง

ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ การสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ โดยพบว่าร้อยละ 95 ของผู้สูงวัย มีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ ส่วนหนึ่งสูญเสียฟันทั้งปาก ซึ่งกรมอนามัยได้ประสานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดบริการใส่ฟันเทียมทดแทนเพื่อการเคี้ยวอาหาร ภายใต้โครงการฟันเทียมพระราชทาน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีฟันมากกว่าครึ่ง พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษา และมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุ จะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ ในขณะที่ผู้สูงอายุอีกส่วนหนึ่ง ก็ดูแลสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดี.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.