"กระไดลิง" สรรพคุณน่ารู้
 


"กระไดลิง" สรรพคุณน่ารู้



ในประเทศอินโดนีเซีย นิยมเอาน้ำเลี้ยงหรือน้ำที่ตัดได้จากเถาหรือต้นสดๆของ “กระไดลิง” ที่ไหลซึมออกมา แล้วใช้ภาชนะรอง จิบบ่อยๆ เป็นยาบรรเทาอาการไอได้อย่างชะงัดนัก และนิยมใช้กันมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ ส่วนในประเทศไทย ระบุว่า เถาหรือต้น “กระไดลิง” มีรสเบื่อเมาใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษทั้งปวง (กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำดื่ม) แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้พิษฝี แก้ไข้เซื่องซึม ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสานของไทย เถาหรือต้นต้มกับน้ำหรือฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด เมล็ด กินเป็นยาขับพยาธิ แก้ไข้เซื่องซึม มีอาการหน้าหมองเนื่องมาจากพิษไข้ แก้ร้อนในได้ดีมาก

กระไดลิง หรือ BAUHINIA  SCAN DENSL, HORSFIELDII อยู่ในวงศ์ CAESAPINIOIDEAE เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เถาที่แก่จัดจะแข็ง เหนียว และแบน โค้งไปมาเป็นลอนสม่ำเสมอเป็นขั้นๆคล้ายบันได จึงเรียกว่า “กระไดลิง” ใบออกเรียงสลับรูปไข่หรือรูปพัด ปลายแหลมหรือเว้าลึกเป็น 2 แฉก

ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงช่อที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงคล้ายรูปถ้วย แยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวอมเหลือง กลีบแยกกันคล้ายรูปพัด มีเกสรตัวผู้ 3 อัน เกสรตัวเมียไม่สมบูรณ์เพศ 2 อัน “ผล” เป็นฝักแบน รูปรี มีเมล็ด 1-2 เมล็ด เมื่อฝักแก่จะเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือ กระไดวอก, มะลืมดำ, บันไดลิง, ลางลิง, เครือกระไดเต่า, โชคหนุ่ย และ ปอกระไดลิง พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีเขตกระจายพันธุ์ อินโดนีเซีย อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน

ปัจจุบัน “กระไดลิง” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ซึ่งถ้าเป็นต้นขนาดใหญ่มีดอกติดต้นด้วยบริเวณแผงไม้ปราจีน ปากทางเข้าประตู 2 แต่เป็นเถาม้วนเป็นมัดๆ ตามภาพประกอบคอลัมน์ บริเวณโครงการ 21 ราคาสอบถามกันเองครับ.


“นายเกษตร”



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.