ปชป.ห่วง อียู บีบขยายสิทธิบัตรยาทำคนไทยจ่ายแพง
 


ปชป.ห่วง อียู บีบขยายสิทธิบัตรยาทำคนไทยจ่ายแพง


ปชป.ห่วง อียู บีบขยายสิทธิบัตรยาทำคนไทยจ่ายแพง

ปชป.ห่วง "อียู" บีบขยายสิทธิบัตรยา ทำคนไทยใช้ยาแพง รัฐ ยัน ให้ความสำคัญไม่ยอมให้คนไทยเสียประโยชน์แน่ ท้ายสุด สภาฯ ผ่านกรอบเอฟทีเอ "ไทย-อียู" เห็นชอบ 446 ต่อ 2...

วันที่ 2 ต.ค. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA)  โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.หลายคน ได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความห่วงใยว่า สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป จะพยายามหาทางต่ออายุสิทธิบัตรยาเพิ่มเติม จะมีผลให้คนไทยต้องบริโภคยาแพงเกินไป

โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเมินได้ว่า การเจรจาระหว่างอียูกับไทยหลายครั้งในอนาคต ทางอียู จะแสดงท่าทีที่ต้องการขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปให้นานขึ้น ซึ่งประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนและเป็นหัวใจที่สุดของกรอบการเจรจาดังกล่าว

ดังนั้น ทีมเจรจาไทยและรัฐบาลต้องแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งว่า จะไม่ยอมให้มีการต่ออายุสิทธิบัตรยาในทุกกรณี เพราะถ้ายอมให้ต่ออายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก จะส่งผลให้คนไทยบริโภคยาแพงขึ้น

“ที่ผ่านมาผู้ผลิตยามักอ้างว่า การขึ้นทะเบียนตำรับยาในไทยผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้มีข้ออ้างว่า จะขอใช้เวลาที่ล่าช้าในส่วนนี้ เพื่อขอขยายอายุสิทธิบัตรยาออกไปอีก จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและทีมเจรจา ต้องมีจุดยืนให้หนักแน่นว่า จะปฏิเสธการต่ออายุสิทธิบัตรยาของอียูในทุกทาง ยอมรับว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอียู ที่มากถึงประมาณ 1 แสนล้านบาทเป็นสิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญ แต่ส่วนตัวคิดว่าการเข้าถึงยาเพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทย ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน” นายอรรถวิชช์กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การจะมาให้เปิดเผยท่าทีการเจรจาในตอนนี้เลย เห็นว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและผิดธรรมเนียม แต่ยืนยันว่า รัฐบาลและทีมเจรจาของไทย ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง

โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะแม่งานและกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้เจรจา ได้ทำงานร่วมกันมาตลอด และได้รับฟังข้อห่วงใยของภาคประชาชนเต็มที่เพื่อไม่ให้ไทยเสียประโยชน์ ซึ่งการเจรจาการค้าเสรีกับอียู คิดว่าต้องมีการเจรจาร่วมกันอีก 7-8 ครั้ง รวมแล้วต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี จากนั้น ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 446 ต่อ 2 เสียงเห็นชอบกับร่างดังกล่าว



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.