ครูฟิสิกส์สร้างนักประดิษฐ์ - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
 


ครูฟิสิกส์สร้างนักประดิษฐ์ - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น


ครูฟิสิกส์สร้างนักประดิษฐ์ - เปิดทำเนียบ ครูดีครูเด่น
ด้วยความเชื่อมั่นว่านักเรียนที่ด้อยโอกาสไม่ได้ขาดความรู้ความสามารถ เพียงแต่เขาขาดโอกาสในการเรียนรู้ และขาดเวทีแสดงความสามารถ ครูพิสัน โพนทัน ครูฟิสิกส์วัย 34 ปี โรงเรียนเมืองกลางประชานุกูล อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ซึ่งรับผิดชอบสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รายวิชาฟิสิกส์ ม. 4 - 6 และ วิทยาศาสตร์ ม. 1 จึงมุ่งมั่นส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบบูรณาการกับศาสตร์สาขาอื่นๆ โดยพยายามดึงศักยภาพของนักเรียนในแต่ละด้านที่มีอยู่ออกมาให้ได้มากที่สุด
ครูพิสัน บอกว่า แนวทางการสอนที่นำมาใช้ คือ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาคุณลักษณะตามวัยของนักเรียน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญาตลอดจนพัฒนากระบวนการคิด กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของชุมนุม เพื่อให้นักเรียนได้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นๆ ให้สูงขึ้น และนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไป

ครูพิสันได้จัดตั้งชุมนุมหุ่นยนต์และเครื่องบินเล็กบังคับด้วยวิทยุขึ้น จากนั้นแยกนักเรียนที่สนใจด้านต่างๆ เช่น หุ่นยนต์บังคับมือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ เครื่องร่อน เครื่องบินบังคับด้วยวิทยุ การทำโครงงานด้วยหุ่นยนต์ เมื่อได้กลุ่มนักเรียนแล้วก็ให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายร่วมโดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังส่งนักเรียนเข้าร่วมประกวดแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จัดขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่รางวัล แต่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จักแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และรู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีคุณธรรมจริยธรรม และปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม

แม้จะได้มุ่งหวังรางวัล แต่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนก็สามารถคว้ารางวัลได้จากหลายเวที เช่น ชนะเลิศเหรียญทองการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย และเหรียญทองการแข่งขันหุ่นยนต์ผสม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 62 ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 28 (ศรีสะเกษ-ยโสธร) หรือเหรียญทองการแข่งขันหุ่นยนต์ผสม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 62 ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น
“ประโยชน์ที่ได้จากการจัดตั้งชุมนุมหุ่นยนต์และเครื่องบินเล็กบังคับด้วยวิทยุ และการหาเวทีให้ได้แสดงความสามารถ ทำให้นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ในทางที่ถูกต้อง” ครูพิสันกล่าว

ความภาคภูมิใจของครูท่านนี้ก็คือ ผลสอบโอเน็ตของนักเรียนม.6 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของโรงเรียนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติ ครูพิสันยังได้รับรางวัลดีเด่นเชิดชูเกียรติครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต 28 รางวัลเหรียญทองการประกวดตามโครงการเส้นทางสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นตัวแทนสถานศึกษาส่งผลงานเข้ารับการประกวดครูแสนดี ปีการศึกษา 2556 อีกทั้งยังขยายผลการจัดกิจกรรมโดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้แก่เพื่อนครูอีกด้วย
สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูพิสันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานก็คือ “ทุนการศึกษาที่ได้รับจากโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)” รุ่นที่ 6 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งภายหลังจบการศึกษาก็ได้ตั้งปณิธานเอาไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะต้องนำความรู้ที่ได้มาสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลน โดยได้ลงมือทำมาอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาการทำงานไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง ด้วยแรงใจและไฟฝันที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

สินีนาฎ ทาบึงกาฬ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.