หยุดหายใจเวลานอนหลับหรือไม่? ตรวจได้จาก Sleep Test
 


หยุดหายใจเวลานอนหลับหรือไม่? ตรวจได้จาก Sleep Test


หยุดหายใจเวลานอนหลับหรือไม่? ตรวจได้จาก Sleep Test


การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดก็จริง แต่ก็มีภัยร้ายที่แฝงอยู่ที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าร่างกายนั้นเกิดอาการผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่มีภาวะการนอนกรน การหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาหารเหล่านี้เกิดขึ้นไม่รู้ตัว ดังนั้น ใครที่นอนใกล้กับผู้ที่มีอาการดังกล่าว ต้องรีบพามาให้แพทย์วินิจฉัย ก่อนที่การนอนหลับจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว

การตรวจภาวะนอนกรน และการหยุดหายใจจากการนอนหลับ (Sleep Test) นายแพทย์ยรรยง ทองเจริญ อายุรแพทย์ระบบประสาท อธิบายว่า เป็นการการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG) ที่ต้องทำให้ห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) โดยมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทางเป็นผู้ควบคุม ทั้งนี้ การตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่างที่สามารถแสดงผลคุณภาพในการนอนของคืนนั้น ๆ ว่าหลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย เจ้าหน้าที่จะใส่เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุดเพื่อใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือแก้ไข อาจมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ และร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้ บางรายเป็นรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตขณะหลับ

เมื่อเข้ารับการรักษาแพทย์ทางหู คอ จมูก จะตรวจดูความผิดปกติจากการนอนหลับอยู่ 2 ส่วนคือ

1. ตรวจดูความผิดปกติของทางเดินหายใจ ในเบื้องต้นอาจพบความผิดปกติตั้งแต่จมูก โพรงจมูก หลังโพรงจมูก บริเวณเพดานอ่อน ช่องปาก ต่อมทอนซิล โคนลิ้น เป็นต้น จากนั้นแพทย์จะตรวจพิเศษในท่านอน โดยใช้กล้องส่องตรวจหลอดลมชนิดอ่อนตัวได้ สอดเข้าไปบริเวณหลังโพรงจมูก ตำแหน่งเพดานอ่อนและโคนลิ้น วิธีนี้แพทย์จะพิจารณาใช้กับคนไข้บางรายที่เหมาะสม นอกจากนี้จะตรวจด้วยการเอกซเรย์ เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน

2. การตรวจความผิดปกติจากการนอน (Sleep Test) เป็นการตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ การตรวจชนิดนี้ประกอบด้วย

- การตรวจวัดคลื่นสมอง - เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทมากน้อยแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด พบว่าบางคนมีลมชักขณะหลับ

- การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ - เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เช่น หัวใจเต้นช้าลงมากขณะหลับ

- การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ - เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และหยุดหายใจหรือหายใจเบาหรือไม่

- การตรวจวัดลมหายใจ - ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยเพียงใด

- ตรวจเสียงกรน - ดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน

- การตรวจท่านอน – ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร


นพ.ยรรยง ทองเจริญ
อายุรแพทย์ระบบประสาท
โรงพยาบาลเวชธานี



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.