ปลดล็อก "กระท่อม" ในมุมมอง "สธ." คือ ยาชูกำลัง
 


ปลดล็อก "กระท่อม" ในมุมมอง "สธ." คือ ยาชูกำลัง


ปลดล็อก

ข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมถึงความเป็นไปได้ในการลดระดับใบกระท่อมเป็นพืชธรรมดาที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จึงกลายเป็นประเด็นที่น่าคิดและต้องคิดอย่างรอบด้าน



จากเดิมใบกระท่อมจัดเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกยกระดับให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับกัญชา อยู่ในการควบคุมของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท

ซึ่ง พ.ร.บ.นี้มีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน

พลันที่ไอเดียของกระทรวงยุติธรรมให้ยกเลิกใบกระท่อมเป็นสารเสพติดถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนก็มีเสียงตอบรับจากเภสัชกรที่เห็นว่าใบกระท่อมมีคุณค่าทางยา

โดยภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ความเห็นว่า ดีใจ ที่จะปลดกระท่อม ออกจากพืชที่เป็นสารเสพติด เพราะคำว่าสารเสพติด คือการเสพอะไรก็ตาม ที่ต้องเสพอยู่ตลอด มีความต้องการในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่สำหรับกระท่อมหรือใบกระท่อมแล้ว ไม่ได้อยู่ในคำจำกัดความดังกล่าว เพราะกระท่อมถือเป็นพืชสมุนไพร ที่คนโบราณใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ มากมาย ทางแพทย์แผนไทย จัดให้กระท่อมเป็นยาชูกำลังชนิดหนึ่งด้วย

"คนโบราณถือว่ากระท่อมเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ขุนศึกและทหารสู้แดด มีกำลังวังชาในการออกรบ ในบทเสภา เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอนขุนแผนเดินทัพ ได้บรรยายถึงเรื่องกระท่อมเอาไว้ว่า ?บ้างห่อกระท่อมสะพายแล่ง ยาหน้าแห้งตะแคงขึง ถุนกระท่อมในห่อพอตึงๆ ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกัน? สะท้อนภาพของสังคมในยุคแรงงานซึ่งต้องการสมุนไพรที่จะช่วยให้มีความทนทานในการทำงานหนัก และไม่หวั่นกลัวความเจ็บปวดเมื่อต้องสู้รบหรือไม่หมดแรงระหว่างเดินทัพทางไกล"
ภญ.สุภาภรณ์ระบุ และว่า เคยมีการพูดไว้ว่า ในอดีต หากไม่มีกระท่อม อาจจะรักษาบ้านเมืองเอาไว้ไม่ได้ เพราะทหารทุกคนจะใช้กระท่อมสำหรับเป็นยาบำรุงกำลัง ทนต่อแดด และความยากลำบากทั้งหลาย เพราะการสู้รบ มักจะทำกันในฤดูร้อน แดดจะแรง การเดินทัพต้องการคนที่มีกำลังทนต่อแดด เช่นเดียวกับคนทำไร่ทำนา ใครได้เคี้ยวใบกระท่อมจะขยันขันแข็ง

ภญ.สุภาภรณ์บอกถึงความสำคัญของกระท่อมในอดีตว่า เล่ากันว่าหนุ่มไหนที่ไปขอลูกสาว ว่าที่พ่อตา จะถามก่อนว่า กินกระท่อม หรือกินกัญชา ถ้าตอบว่ากินกัญชา อย่าหวังว่าจะยกลูกสาวให้ เพราะคนกินกัญชาจะขี้เกียจ เอาแต่นอน ขณะที่กินกระท่อมแล้วจะขยันขันแรง ถ้าทำไร่ทำนา พืชผลก็จะออกมาอุดมสมบูรณ์ แต่ข้อเสียของกระท่อมก็คือ คนที่กินใบกระท่อมจะเป็นคนกลัวฝนโดยไม่รู้สาเหตุ เช่น ถ้าพายเรืออยู่แล้วฝนตก จะกระโดดน้ำหนีฝน ว่ายน้ำเข้าหาฝั่งทันที ไม่ได้กลัวน้ำ แต่กลัวฝน และทนที่จะเห็นฝนไม่ได้ ถ้าฝนตกจะหลบอยู่แต่ในบ้าน ยังไม่มีใครศึกษาเรื่องนี้จริงจังว่าทำไม

ภญ.สุภาภรณ์กล่าวว่า การกินใบกระท่อม เหมือนกับการกินหมาก และดื่มกาแฟ มีทั้งผลดีและผลเสีย ถามว่าให้คนแก่ที่ติดหมาก เลิกกินหมากทรมานไหม หรือให้คนที่ติดกาแฟเลิกดื่มกาแฟทรมานไหม คำตอบก็คล้ายๆ กับให้คนกินกระท่อม เลิกกินกระท่อม ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีใครศึกษาเพื่อนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางยาอย่างจริงจัง เพราะยังติดกับกฎหมายที่ว่า กระท่อมเป็นวัตถุเสพติดอย่างหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยต่างประเทศชิ้นหนึ่งเคยสกัดสารบางอย่างจากใบกระท่อมไปเป็นส่วนหนึ่งสำหรับยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด

ขณะที่ ภก.ประพนธ์อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า อดีตใบกระท่อมเป็นพืชพื้นเมือง ที่คนในท้องถิ่นนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรแก้อาการท้องเสีย คล้ายกับชนเผ่าพื้นเมือง ในบางประเทศ อย่างโบลิเวีย เคี้ยวใบโคคา เพราะอยู่ในพื้นที่สูง ออกซิเจนน้อยต้องอาศัยพืชพื้นเมืองมาเคี้ยวให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่ม เช่นเดียวกับใบกระท่อม คนพื้นเมืองของไทยนำมาใช้แก้ท้องเสีย อาจเคี้ยวหรือต้ม แล้วแต่พื้นที่

"แต่เมื่อนานวันเข้า กระทั่งยุคสมัยใหม่ มียาแผนปัจจุบันแก้อาการท้องเสียมากขึ้น สามารถทานและหายได้รวดเร็วกว่าเดิม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ใบกระท่อมอีก ประกอบกับมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยการนำฤทธิ์ส่วนหนึ่งที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง มาทำเป็นยาเสพติดสี่คูณร้อย เมื่อใช้ไปนานๆ ในปริมาณมากๆ ทำให้เกิดอาการติดยา หากไม่ได้รับยาก็จะกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ไม่มีแรง แต่พอรับยาก็จะมีแรง ตื่นตัว ไม่เหนื่อย กลายเป็นปัญหาปัจจุบัน"
ภก.ประพนธ์ระบุ และว่า ใบกระท่อม จัดเป็นพืชที่องค์การอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังมาก เพราะพบว่าเป็นส่วนผสมหลักของสี่คูณร้อย บางที่ผสมน้ำอัดลม ยาอัลปราโซแลม แต่ส่วนใหญ่จะผสมใบกระท่อม บางที่ต้มกินเป็นน้ำโดยตรงเลย ซึ่งอันตรายมาก กลายเป็นยาเสพติดที่ต้องควบคุมตั้งแต่ปี 2522 โดยจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เหมือนกัญชา

"จริงๆ แล้ว ใบกระท่อมถูกควบคุมมานานแล้ว โดย พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 เป็นการควบคุมเฉพาะเจาะจง แต่ต่อมาเลิกใช้ พ.ร.บ.นี้ เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แทน" ภก.ประพนธ์กล่าว และว่า ปัจจุบันไม่ได้ปิดกั้นหากใครจะปลูกเพื่อเป็นยาทางการแพทย์ ก็ยื่นขอมาที่กระทรวงสาธารณสุขได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาตเป็นรายๆ ไป ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

ดังนั้น เมื่อมองบริบทของเภสัชกรที่ศึกษาคุณสมบัติของใบกระท่อมว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการสกัดเป็นยารักษาโรคได้ถือว่ามองไอเดียของกระทรวงยุติธรรมในเชิงบวก

แต่ไอเดียปลดปล่อยให้"กระท่อม" พ้นบัญชีสารเสพติด เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาถกเถียงถึงผลดีผลเสียจนตกผลึก !!





ที่มา : นสพ.มติชน
ภาพ อินเทอร์เน็ต




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.