หัวใจเต้นผิดจังหวะ...รักษาได้หากใส่ใจดูแล
 


หัวใจเต้นผิดจังหวะ...รักษาได้หากใส่ใจดูแล


หัวใจเต้นผิดจังหวะ...รักษาได้หากใส่ใจดูแล
ทุกจังหวะการเต้นของหัวใจเปรียบเสมือนสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพ อัตราการเต้นของหัวใจคนปกติ 60-100 ครั้งต่อนาที ไม่ควรช้าหรือเร็วกว่านี้มากนัก เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจในลักษณะต่าง ๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อหาแนวทางรักษา นพ.สัชชนะ พุ่มพฤกษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH กล่าวว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นอาการของโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ไม่น้อยไปกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มแรก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นเร็ว โดยเฉพาะที่เกิดกับผู้ป่วยโรคหัวใจ กลุ่มที่สองคือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นช้าพบในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของตัวกำหนดจังหวะ หรือสายนำไฟฟ้าในหัวใจ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ศูนย์หัวใจ SiPH กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการมาก หรืออาการรุนแรงแต่ตรวจทุกอย่างแล้วไม่พบความผิดปกติ อาจต้องใส่สายเข้าไปในหัวใจเพื่อทดสอบการนำไฟฟ้าในหัวใจ ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้แพทย์ทราบว่ามีจุดกำเนิดผิดปกติหรือการนำไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่ สำหรับแนวทางการรักษาคือ ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีโรคหัวใจอื่นร่วมด้วย หลักการคือการรักษาที่โรคต้นเหตุ ถ้าเป็นผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีปัญหาระบบไฟฟ้าอย่างเดียว ผู้ป่วยมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ เริ่มจากกินยาหรือจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงร้อยละ 90-95 สามารถมีโอกาสหายเป็นปกติได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตฉับพลัน แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดใส่เครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ชนิดฝังติดตัวผู้ป่วย ซึ่งมีอายุการใช้งาน 5-8 ปี เมื่อมีสัญญาณหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เครื่องจะส่งไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่ผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติในทันที และกรณีผู้ป่วยหัวใจเต้นช้าจะใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร หรือหากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดีจะใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจช่วยกระตุ้นหลายจุดพร้อมกัน ให้หัวใจบีบตัวได้ดีขึ้น

สำหรับการป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ นพ.สัชชนะ แนะนำว่าควร หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ขณะเดียวกันควรหันมาออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นลัดวงจรบางรายสามารถบรรเทาอาการด้วยการกลั้นหายใจเบ่งแรง ๆ อัดอากาศเข้าไปในปอด ให้ความดันในปอดสูง ส่งผลให้เลือดไหลกลับหัวใจลดลง ระบบประสาทจะรับรู้ว่าเกิดความผิดปกติ ทำให้หยุดหรือบรรเทาอาการไฟฟ้าที่ลัดวงจรได้ ในต่างประเทศนิยมให้นำใบหน้าไปแช่ในน้ำเย็นจัด อย่างไรก็ตาม หากคนใกล้ชิดมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้น ๆ หยุด ๆ ตกวูบ คล้ายตกจากที่สูง ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม ถือเป็นสัญญาณอันตราย หากผิดปกติขึ้นมาจะเป็นเรื่องฉุกเฉินและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ศูนย์หัวใจ SiPH มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย อาทิ เครื่องเช็กหัวใจที่มีความละเอียดสูงในการสร้างภาพสามมิติ เป็นเครื่องค้นหาตำแหน่งของการเกิดวงจรไฟฟ้าภายในหัวใจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยชนิดซับซ้อน จะทำให้โอกาสของผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยเฉพาะกลุ่มโรคซับซ้อนที่มีรอยโรคมาก.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.