คัพไหนก็ไร้กังวล ด้วยเทคนิคกระตุ้นฮอร์โมนสร้างน้ำนมแม่
 


คัพไหนก็ไร้กังวล ด้วยเทคนิคกระตุ้นฮอร์โมนสร้างน้ำนมแม่


คัพไหนก็ไร้กังวล ด้วยเทคนิคกระตุ้นฮอร์โมนสร้างน้ำนมแม่


ในช่วงที่ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ หลายคนอาจเกิดความกังวลในเรื่องของปริมาณน้ำนมว่าจะเพียงพอกับความต้องการของลูกหรือไม่ ในอดีตเรามักจะเชื่อกันว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็ก อาจสร้างน้ำนมได้ในปริมาณที่น้อยกว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกใหญ่ ความเป็นจริงแล้วการสร้างน้ำนมสามารถเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้หญิงทุกคน เพราะกระบวนการสร้างน้ำนมเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ ร่วมกับการกระตุ้นด้วยวิธีธรรมชาติของแม่

กระบวนการสร้างน้ำนมในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่ง พญ.ศรีวิไล ทัศนวิภาส กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเวชธานี ได้อธิบายถึงกระบวนการสร้างน้ำนมในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ว่าเนื้อเยื่อเต้านมมีการเจริญเติบโต และแตกพานเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์ท่อน้ำนมจะแตกแขนงมากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน จะกระตุ้นการสร้างเยื่อบุผนังของต่อมน้ำนม ทำให้เต้านมของหยิงตั้งครรภ์มีขนาดและน้ำหนักเพิ่มขึ้น ประมาณ 2-3 เท่าของปกติในไตรมาสที่ 3

ภายในเต้านมจะประกอบไปด้วยท่อน้ำนม และเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำนม ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ 2 ชั้นคือ เซลล์ชั้นใน ทำหน้าที่สร้างโดยอาศัยการกระตุ้นจากฮอร์โมนโปรแลคติน ที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง กระตุ้นอะวิโอลา เซลล์ (Alveolar cell) ให้สร้างน้ำนม ซึ่งฮอร์โมนโปรแลคติน จะขึ้นสูงสุดหลังลูกหยุดดูดนม  30 นาที หลังจากนั้นระดับฮอร์โมนในเลือดจะค่อยๆ กลับสู่ระดับปกติ ประมาณ 3 ชั่วโมงหลังดูดนม ดังนั้นเพื่อให้มีฮอร์โมนในเลือดสูงตลอดเวลา ต้องให้ลูกดูดนมบ่อยๆ และสม่ำเสมอ เต้านมจะได้สร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าให้ลูกดูดนมช่วงกลางคืน ฮอร์โมนโปรแลคติน ก็จะช่วยสร้างน้ำนมได้ดีมากกว่ากลางวัน

ต่อมาคือส่วนเซลล์ชั้นนอกเป็นเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ เรียกว่า เซลล์ไมโออิปิธีเลียล เซลล์ (Myoepithelial cell) เรียงตัวประสานกันรอบเซลล์ชั้นใน จะหดตัวทำให้น้ำนมที่สร้างไว้แล้วไหลเข้าสู่ท่อน้ำนม เมื่อได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนออกซิโทซิน ซึ่งการหลั่งของฮอร์โมนชนิดนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อทารกดูดนม และยังขึ้นกับการกระตุ้น ยับยั้งโดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น เมื่อได้ยินเสียงลูกร้องหรือมองเห็นลูกจะเกิดการกระตุ้นให้มีการหลั่ง ฮอร์โมนทำให้น้ำนมไหลได้ หรือในทางตรงข้าม เมื่อมีความเครียด เจ็บปวด กังวล หรือขาดความเชื่อมั่น จะมีผลยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน ทำให้น้ำนมไม่เพียงพอตามความต้องการ

ดังนั้นการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส รวมทั้งมีความมั่นใจว่าสามารถมีน้ำนมได้เพียงพอกับความต้องการของลูก เพื่อการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.