จิ๊กซอว์จอแอลอีดี - ฉลาดคิด
 


จิ๊กซอว์จอแอลอีดี - ฉลาดคิด


จิ๊กซอว์จอแอลอีดี - ฉลาดคิด
“จอแอลอีดี” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลทางการตลาด เพราะนอกจากจะไฮเทค สะดวกสบายในการใช้งานแล้ว ยังสามารถสร้างสรรค์ลูกเล่นที่ดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างหลากหลายอีกด้วย

และด้วยแนวโน้มกระแสการใช้งานจอแอลอีดี น้อง ๆ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ประกอบด้วย นางสาววรันธร ขยันยิ่ง นางสาวอัจจิมา ชูสุวรรณ และ นายธัชชัย ถวาย ได้ร่วมกันพัฒนา ระบบจอแอลอีดีสำหรับความบันเทิง (The Illuminating LED Jigsaw for Entertain-ment Computing) ขึ้น โดยเรียกสั้น ๆ ว่าระบบไอเจค (iJEC)โดยมี ดร.ปริยกร ปุสวิโร และ ดร.จาตุรนต์ หาญสมบูรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

สำหรับระบบดังกล่าว น้อง ๆ อธิบายว่า จะใช้วิธีการประกอบหลอดแอลอีดีเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ คล้ายกับจิ๊กซอว์ (Jigsaw) โดยจิ๊กซอว์แต่ละตัว สามารถถอดประกอบกันเพื่อสร้างเป็นฉากรูปร่างต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ฉากยังสามารถโต้ตอบแบบอัตโนมัติกับผู้คน ผู้ชม ผู้เล่น หรือนักแสดงได้ ด้วยเทคโนโลยี คินเน็ค ที่ใช้สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้เล่น เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลก่อนที่จะส่งผลลัพธ์ไปแสดงยังบนฉากโต้ตอบไอเจค

น้อง ๆ บอกว่า กราฟิกสำหรับโต้ตอบกับผู้เล่น จะมีด้วยกัน 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การเพติ้ง  (Painting) ซึ่งเป็นการจำลองเสมือนผู้เล่นกำลังวาดภาพลงบนฉากไอเจค โดยการใช้มือขวาสำหรับวาด และมือซ้ายสำหรับลบ

ส่วนรูปแบบที่สอง คือ การแทรคกิ้ง (Tracking) ที่จะเป็นกราฟิกสำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้เล่น โดยจะแสดงเงาท่าทางของผู้เล่นบนฉากไอเจค และรูปแบบที่สามคือเท็กซ์ (Text) ซึ่งผู้เล่นสามารถพิมพ์ข้อความเพื่อแสดงบนฉากไอเจค ได้ โดยข้อความสามารถเคลื่อนที่ตามผู้เล่นได้อีกด้วย

น้อง ๆ ทีมนี้ ยังบอกอีกว่า ได้มีการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมสำหรับการควบคุมกราฟิก และการตั้งค่าระบบก่อนเริ่มใช้งาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้

เนื่องจากจิ๊กซอว์สามารถถอดประกอบได้ ทำให้ไอเจคสามารถนำไปประยุกต์ได้กับงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดความสนใจจากบุคคลทั่วไปในอาคาร งานนิทรรศการต่าง ๆ และเพื่อความบันเทิงในศูนย์เรียนรู้ เวทีการแสดง การเสริมสร้างจินตนาการเด็ก ๆ ในสนามเด็กเล่น หรือโรงเรียน หรือแม้กระทั่งเพื่อช่วยคลายความเครียดของคนไข้ระหว่างรอตรวจที่โรงพยาบาล

และที่สำคัญ อุปกรณ์ที่ใช้ในระบบนี้สามารถที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย.

นาตยา คชินทร
[email protected]



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.