ในกรุงไข้เลือดออกคร่าชีวิตอีก1
 


ในกรุงไข้เลือดออกคร่าชีวิตอีก1


ในกรุงไข้เลือดออกคร่าชีวิตอีก1
เมื่อเวลา11.00 น.วันที่  17 ก.ค.56  ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตห้วยขวาง ได้ยื่นกระทู้ถามฝ่ายบริหาร  เรื่องสถานการณ์ไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  นายประเดิมชัย  กล่าวว่า  ตนได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออก 1 ราย ซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในแฟลตตำรวจ  ในพื้นที่เขตห้วยขวาง  ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่าน  ในขณะที่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เขตและผู้เกี่ยวข้อง กลับไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกดังกล่าว   ทำให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการปฎิบัติตรวจสอบป้องกันและการติดตามแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง และกำลังระบาดหนักในหลายพื้นที่ขณะนี้   ตนขอให้ผู้บริหารกทม.สั่งการ และมีแผนการปฎิบัติ ที่ชัดเจนและมีการดำเนินการตามแผนทุกขั้นตอน เมื่อพบผู้ป่วยแล้วจะต้องมีการไปดำเนินการป้องกันการระบาดของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยรายต่อๆ ไปได้   แต่เขตฯกลับบอกข้อติดขัดในการดำเนินการไม่มีรถ ไม่มีเจ้าหน้าที่  ทั้งที่ในจุดที่เกิดปัญหา ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทำงานเฉพาะฝ่ายสิ่งแวดล้อม หรือฝ่ายรักษาความสะอาด  จะต้องเป็นการระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามา    ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนทันที

ด้านนางผุสดี  ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)  กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักอนามัยตั้งแต่ต้นปี 56  ในพื้นที่กทม.มีผู้เสียชีวิต 1 รายที่เขตหนองจอก  ส่วนผู้ป่วยรายดังกล่าวทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรายงานแล้ว  แต่จะต้องรอการยืนยันว่าการเสียชีวิตเกิดจากโรคไข้เลือดออกหรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ดำเนินการทุกมาตรการอย่างเร่งด่วน  ทั้งแจกทรายอะเบท  ออกฉีดพ่นยุง  การขอความร่วมมือประชาชนในชุมชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยังเดินหน้าทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง  ด้านนายวงวัฒน์  ลิ่วลักษณ์  ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กล่าวว่า  ผู้ป่วยรายดังกล่าว ทางกองควบคุมโรคได้รับรายงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ว่าผู้ป่วยเริ่มป่วยตั้งแต่ 23 มิ.ย. และเข้าทำการรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนของโรคไต ซึ่งตามปกติเมื่อป่วยโรคไข้เลือดออกจะหายหรือป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตจะอยู่ระยะ 7 วัน  แต่ในรายดังกล่าวเริ่มป่วยจนถึงวันเสียชีวิตกว่า 20 วัน  ดังนั้นจะต้องไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่า เสียชีวิตมาจากโรคไข้เลือดออกหรือจากอาการแทรกซ้อน เพราะในผู้ป่วยหลายรายที่ตรวจพบ ก็อาจเกิดการป่วยจากโรคแทรกซ้อน  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขอข้อมูลการรักษาจากโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตต่อไป.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.