เปิดสถิติไฟใต้-หลังการเจรจา
 


เปิดสถิติไฟใต้-หลังการเจรจา


เปิดสถิติไฟใต้-หลังการเจรจา
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8262 ข่าวสดรายวัน


เปิดสถิติไฟใต้-หลังการเจรจา


รายงานพิเศษ



เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ยังคงคุกรุ่น แม้เข้าสู่เดือนรอมฎอน แต่ยังเกิดเหตุรายวันต่อเนื่องทั้งการสร้างสถานการณ์และมุ่งหมายเอาชีวิต



ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.ท.ปรีชา พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำคณะบินไปประเทศมาเลเซีย เพื่อเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นของนายฮัสซัน ตอยิบ แล้วก็ตาม



ยื่นข้อเสนอให้ลดการก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะที่กระทำกับ "เป้าหมายอ่อนแอ" อาทิ ประชาชน เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ครู พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ฯลฯ



อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะไม่ยุติลงง่ายๆ แต่หากเจาะลึกไปที่เป้าหมายอ่อนแอ พบว่ามีแนวโน้มลดลงหลังจากรัฐบาลเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็น



โดยหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ได้ยืนยันข้อมูล ระบุว่า



จากการวิเคราะห์สถิติข้อมูลผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ในห้วง 6 เดือนแรก ตั้งแต่ปี 2547-2556 พบว่า ปี 2550 จำนวนประชาชนเสียชีวิตสูงสุด 471 คน



สำหรับปีอื่นๆ การเสียชีวิตของประชาชนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200 ราย เริ่มตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ยกเว้นปี 2556 (ถึงวันที่ 4 ก.ค.) จำนวนลดลงเหลือ 69 คน



ถือเป็นสถิติการเสียชีวิตของประชาชนที่ต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทุกปีในห้วงเวลาเดียวกัน



รายงานยังเปรียบเทียบยอดผู้เสียชีวิตกลุ่มต่างๆ ที่ตกเป็น "เป้า" ของผู้ก่อความไม่สงบในห้วงเวลาเดียวกัน ช่วงก่อนและหลังกระบวนการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น



โดยเปรียบเทียบระหว่างเดือนมี.ค.-มิ.ย.2555 กับ มี.ค.-มิ.ย.2556 พบว่า หลังการเจรจาเป็นช่วงที่จำนวนประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงต่ำกว่าตำรวจและทหาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนี้



มี.ค.-มิ.ย.2555 ตำรวจเสียชีวิต 7 นาย ทหาร 13 นาย รวม 20 นาย ขณะที่ประชาชน 81 ราย



มี.ค.-มิ.ย.2556 ตำรวจเสียชีวิต 8 นาย ทหาร 47 นาย รวม 55 นาย ขณะที่ประชาชน 43 ราย



สำหรับยอดผู้บาดเจ็บก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย มี.ค.-มิ.ย.2555 ตำรวจ 19 นาย ทหาร 92 นาย รวม 111 นาย ขณะที่ประชาชน 401 ราย



แต่ในเดือนมี.ค.-มิ.ย.2556 ตำรวจ 25 นาย ทหาร 140 นาย รวม 165 นาย ขณะที่ประชาชน 97 ราย



ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำสมมติฐานของหน่วยงานความมั่นคงว่า เป็นไปได้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบจะเปลี่ยนเป้าหมายจากประชาชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธแทน



ซึ่งก็คือตำรวจและทหาร ตามข้อเรียกร้องของทีมเจรจาฝ่ายไทยที่ให้งดโจมตี "เป้าหมายอ่อนแอ"



รายงานระบุด้วยว่า สถิติการเสียชีวิตของประชาชนที่ลดลงมากแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะของเลขาธิการองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี)



เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง การรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน



รวมถึงการอำนวยความเป็นธรรม เช่น การพัฒนาระบบควบคุมดูแลผู้ต้องขังมุสลิมในเรือนจำ การปรับปรุงชุดแต่งกาย อาหารฮาลาล และสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนการย้ายผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนา และการนำครอบครัวไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ต่างจังหวัด





นอกจากนี้ยังสะท้อนผลสำเร็จของการช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มที่รัฐได้กระทำการเกินกว่าเหตุ เช่น กลุ่มกรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และกลุ่มที่ถูกจับกุมคุมขัง ฯลฯ



ขณะเดียวกันนักวิชาการและผู้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ก็มีข้อมูลในลักษณะเดียวกัน



โดยนายชินทาโร ฮารา อาจารย์ภาควิชาภาษามลายู ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า ก่อนเปิดโต๊ะเจรจา กลุ่มก่อความไม่สงบจะโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ประชาชนในพื้นที่มีกลุ่มอัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง



แต่ภายหลังการเจรจา บีอาร์เอ็นประกาศในแถลง การณ์ว่าจะไม่โจมตีประชาชน แต่เลือกโจมตีเฉพาะ เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการด้านความมั่นคง



จึงสันนิษฐานได้ว่า สถิติที่ออกมาอาจสอดคล้องกับคำประกาศของบีอาร์เอ็นที่ประชาชนจะไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไป



อย่างไรก็ตาม นายชินทาโรตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง ไม่ถือเป็นผลสำเร็จของการเจรจาสันติภาพ เพียงแต่ระดับความรุนแรงเริ่มจำกัดวงแคบลงเท่านั้น



อีกทั้งยังไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่า หลังจากนี้จะไม่มีประชาชนเสียชีวิต หรือช่วงเดือนรอมฎอนจะไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีก



ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังมีผู้ก่อความไม่สงบอีกหลายกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อให้การเจรจาที่ผ่านมาล้มเหลว



หรือแม้แต่ฝั่งไทยเองก็ยังมีฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการเจรจา ขณะที่กองทัพก็ไม่สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะหากการเจรจาสำเร็จจะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดึงคะแนนเสียงจากประชาชนได้อีกมาก



"จึงไม่แปลกที่จะมีคนขัดขวาง เพราะมันเป็นเกมการเมือง"



ด้าน พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ที่ปรึกษามูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เห็นสอดคล้องว่า เป้าหมายต่อผู้บริสุทธิ์ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนรับไม่ได้กับการกระทำ กลุ่มก่อความไม่สงบจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นเจ้าหน้าที่แทน



อีกสาเหตุเกิดจากผลอันเป็นรูปธรรมของการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเลขาฯ สมช.ยื่นข้อเสนอให้ลดความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ ตั้งแต่การพูดคุยครั้งที่ 2 เป็นต้นมา



ถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทาง เพียงแต่ขาดประสบการณ์พูดคุยสันติภาพเท่านั้น น่าจะเพิ่มคนที่มีข้อมูลและรู้ลึกเรื่องพื้นที่เข้าไปในทีมเจรจาอีก



พล.ต.ต.จำรูญยังให้ข้อคิดด้วยว่า หัวใจของการสร้างสันติภาพคือการสร้างความเชื่อใจและรับฟัง รัฐบาลต้องประคองการพูดคุยให้นำไปสู่การเจรจาให้ได้



"เพราะสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับการลดการก่อเหตุรุนแรง นำไปสู่การสร้างสันติสุขร่วมกันในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ในที่สุด"



เป็นข้อมูลที่ทั้งหน่วยราชการและคนทำงานในพื้นที่สะท้อนออกมาได้เป็นเอกภาพ


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.