อันตรายรอบด้านหากนำเข้าหมูมะกัน
 


อันตรายรอบด้านหากนำเข้าหมูมะกัน


 อันตรายรอบด้านหากนำเข้าหมูมะกัน

โดย รศ.ดร.กานต์ สุขสุแพทย์

รศ.ดร.กานต์ สุขสุแพทย์ คณะเทคโนโลยีเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง




ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 3,000 คน ที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการเปิดนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกา สะท้อนความกังวลอย่างหนักของเกษตรกรไทยที่มีต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศต่ออาชีพเกษตรกร และรวมถึงต่อเศรษฐกิจของชาติด้วย

ประการแรก...อันตรายต่อสุขภาพคนไทย : สหรัฐเป็นแหล่งผลิตสารเร่งเนื้อแดงที่สำคัญ ทั้งยังเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างถูกกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่าเนื้อสุกรของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดงทั้ง 100% ก็คงไม่ผิด โดยสหรัฐ พยายามผลักดันให้ทั่วโลกยอมรับสารเร่งเนื้อแดง ผ่านองค์กรสากลที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานอาหาร หรือโคเด็กซ์ (Codex) แล้วใช้ผลการโหวตที่ชนะอย่างเฉียดฉิวจากเวทีนี้ในการต่อรองผลประโยชน์ในด้านการเปิดตลาดเนื้อสุกรในประเทศต่างๆ พร้อมเปิดตัวสารเร่งเนื้อแดงตัวใหม่คือ แร็กโตปามีน (Ractopamine)

ส่วนประเทศไทยก็ยังคงยืนยันห้ามใช้สารในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ผสมอาหารสัตว์ทุกตัว (รวมทั้งแร็กโตปามีน) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเช่นกัน โดยกรมปศุสัตว์ไม่อนุญาตให้นำไปผสมอาหารสัตว์เนื่องจากยาตัวนี้อยู่ในกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ เช่นเดียวกับ ซาลบูตามอล และเคลนบูเตอรอล

แม้จะสามารถ "เร่งเนื้อแดง" ได้โดยช่วยเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดไขมันในเนื้อสัตว์ลง แต่สารดังกล่าวมีโทษต่อสัตว์และมนุษย์ เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นสมองและระบบไหลเวียนโลหิต ยิ่งถ้าใช้เกินขนาดจะทำให้สัตว์อยู่ในสภาพถูกทรมาน ขณะที่หากมนุษย์บริโภคเข้าไปก็จะเกิดอาการใจสั่นนอนไม่หลับ ซึ่งไทยเราก็ประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสหภาพยุโรปและอีกหลายๆ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในอาหาร

ผลผลิตสุกรของสหรัฐมีมากจนเกินความต้องการ และบางชิ้นส่วนคนอเมริกันก็ไม่รับประทานจึงจำเป็นต้องผลักดันออกสู่ประเทศที่สหรัฐยังพอใช้อำนาจบีบบังคับให้เปิดรับเนื้อหมูสหรัฐได้ อาทิ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ ขณะที่สหภาพยุโรปและรัสเซีย ต่างก็ปฏิเสธหมูสหรัฐอย่างไร้เยื่อใยไปแล้วด้วยเหตุผลของความปลอดภัยทางอาหาร

ประการที่สอง...อันตรายต่ออาชีพเกษตรกรไทย : อาชีพการเลี้ยงสุกรช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไทยทั่วประเทศมาช้านาน และในกระบวนการผลิตสุกรของไทยนั้นมีพัฒนาการและเติบโตอย่างต่อเนื่องกระทั่งสามารถผลิตเนื้อสุกรที่มีคุณภาพสูงได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ แม้บางครั้งผลผลิตจะเกินความต้องการบ้างก็เป็นเพียงครั้งคราวตามกลไกตลาดเท่านั้น หากมีสุกรจากสหรัฐเข้ามาอีกก็จะส่งผลให้ปริมาณสุกรล้นตลาด เกินความต้องการบริโภค ราคาสุกรจะตกต่ำลงทันที

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นแหล่งปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ ทำให้อาหารสัตว์มีราคาถูก สุกรจากสหรัฐจึงมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก ตรงกันข้ามกับการผลิตอาหารสัตว์ของไทยที่ต้องอาศัยการนำเข้ากากถั่วเหลืองในอัตราราคาที่แพงลิบแถมยังมีภาษีนำเข้าอีก ดังนั้น ไม่มีทางเลยที่สุกรไทยจะสามารถทำต้นทุนได้ต่ำกว่าสุกรสหรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐยังอุดหนุนผู้เลี้ยงสุกรสหรัฐในด้านอื่นๆ ด้วย ยิ่งทำให้ความสามารถในการตีตลาดต่างประเทศของสหรัฐเป็นไปได้ง่ายขึ้นทำการตัดราคาจำหน่ายได้อย่างเต็มที่ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ต้องล้มละลายในที่สุด เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่สหรัฐได้ อันตรายของอาชีพการเลี้ยงสัตว์อีกเรื่องคือ โรคระบาดสัตว์ ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกาก็กำลังเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดสุกรสายพันธุ์ EDV โดยพบการติดเชื้อครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สำคัญคือยังไม่มีวิธีควบคุมเชื้อดังกล่าวได้ ลูกสุกรที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอัตราการตายสูงถึง 50-100% และมีข้อมูลระบุว่าลูกสุกรในสหรัฐต้องตายด้วยเชื้อชนิดนี้แล้วกว่า 1 ล้านตัว จึงนับเป็นความเสี่ยง หากไทยเปิดโอกาสให้มีการนำสุกรสหรัฐเข้ามาในไทย

ประการที่สาม อันตรายต่อเศรษฐกิจชาติ : สหรัฐใช้ความเป็นมหาอำนาจในการต่อรองและบีบบังคับไทยในทุกด้าน ตั้งแต่การกดดันผ่านสถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย ให้เร่งรัฐบาลไทยเปิดตลาดนำเข้าสุกรสหรัฐอีกด้านหนึ่งก็พิจารณาเพิ่มภาษีชดเชยนำเข้ากุ้งไทยหรือ CVD (Countervailing Duties) มาต่อรอง โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องผู้เลี้ยงกุ้งสหรัฐ ซึ่งไม่บอกก็รู้ว่าเป็นเทคนิคหนึ่งในการบีบประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมผู้ผลิตสุกรแห่งชาติ-สหรัฐ ก็ยังออกมาข่มขู่ว่าจะเสนอต่อรัฐบาลสหรัฐ พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP กับสินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ ของไทย เพื่อตอบโต้ทางการค้า เพราะประเทศไทยยังไม่เปิดตลาดสุกรในสหรัฐ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ที่ยอมแล้ว

ที่บอกว่า การนำเข้าสุกรสหรัฐจะส่งผลอันตรายต่อเศรษฐกิจชาติด้วยนั้น เพราะไม่เพียงอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่มันจะมีผลเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยา และเวชภัณฑ์ ซึ่งถ้ารวมมูลค่าทั้งอุตสาหกรรมก็สูงถึงราว 80,000 ล้านบาท หากต้องล่มสลายเพราะสุกรสหรัฐบุกตลาดไทยแล้ว...ย่อมต้องกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของชาติด้วยแน่นอน

เนื้อหมูของบ้านเรามีคุณภาพสูงกว่าและมีปริมาณการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปิดรับชิ้นส่วนหมูที่คนอเมริกันไม่กินอย่างหัวหมู ขาหมู และเครื่องในหมูเข้ามา ซึ่งก็คงขอเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะเอาใจช่วยและติดตามรัฐบาลไทยว่าจะรับมือสหรัฐอเมริกาอย่างไร?

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 11 ก.ค.2556)



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.