ครูอ๋อย การศึกษาไทยไปทางไหน
 


ครูอ๋อย การศึกษาไทยไปทางไหน


 ครูอ๋อย การศึกษาไทยไปทางไหน

โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

(ที่มา:มติชนรายวัน 11 ก.ค.2556)

 

 



ทําท่าจะไปได้ดี มีความหวัง เพราะเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาก่อน แถมประกาศแนวทางสานต่องานที่รัฐมนตรีคนก่อนวางไว้และทำงานได้เต็มที่เพราะนั่งเก้าอี้เดียว

แต่ไม่ทันไร มรสุมตั้งเค้าทะมึนเรียงลำดับให้คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ต้องตัดสินใจ หาทางฝ่าฟันต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์การเรียนของเด็กไทยต้องดีขึ้นให้ได้

ผมเรียงลำดับข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นทันทีที่รับหน้าที่ไม่ถึงสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ ที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบันเก่าแก่ เสนอให้ชะลอการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานออกไปก่อน

เหตุผลที่ยกขึ้นมาคือ เป็นการปรับของคนกลุ่มเล็กๆ เพียง 5-6 คน ในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น เร่งรีบเกินไป ขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางทุกกลุ่ม การที่ผลการเรียนของเด็กตกต่ำแท้จริงแล้วมาจากปัญหาอะไร เกิดจากหลักสูตรจริงหรือไม่

ข้อเรียกร้องต่อมา องค์กรมัธยมศึกษา 13 แห่ง อาทิ สมาคมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาประเทศไทย สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ขอให้แยกงานมัธยมศึกษาออกมาเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ข้อเรียกร้องต่อมา กลุ่มอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยเสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารอุดมศึกษาใหม่เป็นอิสระจากกระทรวงศึกษาธิการ มีการตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบที่เหมาะสมนำโดย รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธาน

ข้อเรียกร้องต่อมา อาจารย์มหาวิทยาลัยขอให้ปรับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการปรับไปแล้ว 8% รวมกับค่าครองชีพอีก 5% เป็น 13% ทำให้เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยน้อยกว่า

ครับ นี่เพียงแค่ 4 ข้อเรียกร้องหลักซึ่งยังมีเรื่องอื่นๆ กระเส็นกระสายค้างคาให้สะสางอีกไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องทุจริตทั้งหลายแหล่

คุณจาตุรนต์จะจัดการอย่างไรกับข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายข้าราชการประจำ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง ไปจนถึงผู้บริหารโรงเรียน และครูทุกโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกแห่ง

เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าเรื่องหลักสูตร โครงสร้างองค์กร ผลตอบแทนการทำงาน ล้วนส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติงาน ความก้าวหน้าในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาทั้งสิ้น

พวกเขาคิดว่า สิ่งที่เรียกร้องกับสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายและสังคมต้องการ คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและวุฒิภาวะของเด็กซึ่งสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและโลก เป็นสิ่งเดียวกัน

หากไม่ทำตามที่พวกเขาคิดและเรียกร้อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและวุฒิภาวะของเด็กไม่มีทางดีขึ้น เป็นไปตามที่คาดหวัง

ประเด็นปัญหาอยู่ตรง ความคิด ความเชื่อของผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนครู อาจารย์ทั้งหลาย ที่ว่ามานั้น เป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เป็นความจริงหรือไม่

หากทำตามข้อเรียกร้องของท่านทั้งหลายเหล่านั้นก่อน ปรับผลประโยชน์ตอบแทนก่อน ปรับโครงสร้างองค์กร ปรับระบบการบริหารก่อนแล้ว สิ่งที่สังคมต้องการจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน จริงหรือไม่

คำถามคือ บทเรียนจากการแยกเขตพื้นที่ประถมกับมัธยม บทเรียนจากการปรับขึ้นเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนครู 13% แล้ว ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก วุฒิภาวะ ทักษะต่างๆ ของเด็ก ดีขึ้นความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

หลังได้รับปรับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นเพิ่มขึ้นแล้ว ท่านทั้งหลายมีการพัฒนาตนเอง พัฒนากระบวนการเรียนการสอน พัฒนาทักษะความสามารถต่างๆ ให้ทันยุคทันสมัยทันเด็ก อย่างไร เมื่อไหร่

คุณจาตุรนต์จะเดินหน้าปรับหลักสูตรแจกแท็บเล็ตต่อไปอย่างไร เปิดกระบวนการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่ควรเร่งรัด กลับมาทำอย่างเอาจริงเอาจัง คือ การพัฒนาคุณภาพครู

ไม่ใช่เพียงแต่การผลิตครูรุ่นใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ ซึ่งหน่วยผลิตคือมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง

แต่กลุ่มที่สำคัญและยังมีบทบาทอยู่ คือ ครูประจำการ 3-4 แสนคนทั่วประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯมีสถาบันพัฒนาผู้บริหาร  แต่ไม่มีสถาบันพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ครบวงจร

คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ที่คุณภาพครูครับ ซึ่งมิได้หมายถึงครูที่อยู่ประจำตามโรงเรียน วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเท่านั้น

แต่เริ่มจากครูที่อยู่ที่บ้าน ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูคนแรกของเด็กทุกคน นั่นแหละสำคัญที่สุด เราสนใจ ใส่ใจ การศึกษาของลูกหลานกันอย่างไร หรือแค่ส่งไปโรงเรียนแล้วก็แล้วกันไป



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.