การศึกษาเรื่องทุนนิยมใหม่ - โลกาภิวัตน์
 


การศึกษาเรื่องทุนนิยมใหม่ - โลกาภิวัตน์


การศึกษาเรื่องทุนนิยมใหม่ - โลกาภิวัตน์
ระบบทุนนิยมทำให้เกิดปัญหาได้เหมือนกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะวิกฤติด้านการเงินและวิกฤติการจ้างงาน ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพจะสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในระยะสั้นและยาวได้ดี

โดยระบบทุนนิยมนั้นการพัฒนาทุนก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่การพัฒนาทุนอย่างมีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละประเทศอย่างมีคุณภาพนั้น ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องใหญ่กว่า

หากประชากรอยู่ดีมีสุขด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพทำให้คนมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ด้วยอาชีพทั้งการเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง และนักลงทุนที่ดีมีคุณภาพ เศรษฐกิจก็จะถูกขับเคลื่อนไปได้อย่างดีทุกคนมีงานทำ ระบบการพัฒนาทุนก็เพื่อประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ให้อยู่ดีกินดี ระบบการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพก็จะเป็นคำตอบสำหรับทุนนิยมยุคใหม่ได้เช่นกัน

ในการประชุมที่ยุโรปเกี่ยวกับปัญหาการว่างงานนั้น ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องใหญ่การทำให้ระบบการศึกษา ระบบงบประมาณ และรวมเข้ากับระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ เพื่อมุ่งสู่การให้บัณฑิตมีงานทำ มีอาชีพสามารถประกอบการในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ นั้นแหละจะคือคำตอบ

หากจะเข้ามาดูลักษณะการจ้างงานที่นายจ้างอยากได้และทักษะที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเป็นการสำรวจจากนิตยสารฟอร์บส (Forbes) สำหรับปีล่าสุด 2013 พบว่านายจ้างต้องการคนที่มีทักษะเรียงตามลำดับดังนี้ 1. การคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) 2. สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ 3. วิธีการตัดสินใจ 4. เป็นนักฟังที่ดี 5. คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 6. คณิตศาสตร์ 7. การวิเคราะห์ การดำเนินงานและระบบ 8. การตรวจสอบและติดตามสม่ำเสมอ 9. การเขียนโปรแกรม 10. การขายและการตลาด

ดูก็น่าแปลกที่อาชีพการขายและการตลาดมาเป็นอันดับสุดท้ายของนายจ้างสมัยใหม่ แต่ตั้งข้อสังเกตได้ว่า 4 ภาระอับดับต้น ๆ ที่นายจ้างต้องการนั้นไม่ได้มาจากการเรียนการสอนแบบวิชาการเลย หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิชาการ เช่น คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ระบบ การเขียนโปรแกรม กระทั่งวิชาการตลาดและการขายกลับอยู่อันดับสุดท้าย

ทักษะเฉพาะตัวที่ฝรั่งเรียกว่า Soft Skill ซึ่งมักจะเป็นเรื่องทักษะในการมีวิจารณญาณเป็นการแก้ปัญหาและการตัดสินใจนำธุรกิจให้ไปได้ดี จะเป็นที่ต้องการของนายจ้างมากกว่า

เพราะฉะนั้นการวัดการเรียนการสอนด้วยระบบการตัดเกรดมีบันทึกประวัติการศึกษาหรือใบทรานสคริปต์อย่างเดียวจึงไม่พอนักศึกษา จะต้องได้รับโอกาสการศึกษาที่ใกล้เคียงกับของจริงที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ที่มีการเคลื่อนไหวและพัฒนาไปอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง

การเชื่อมต่อระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างแนบแน่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้เห็นของจริงและได้รับการฝึกงานจากสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมและธุรกิจนั้น ๆ และจะสามารถทำให้นักเรียนได้รับการเรียนรู้เรื่องทักษะเฉพาะตัว หรือ Soft Skill ไปด้วย

นอกจากประวัติการเรียนการสอนในทรานสคริปต์แล้ว นักศึกษาจะต้องได้รับการประเมินในระหว่างการเรียนในมหาวิทยาลัยในเรื่องทักษะเฉพาะตัวด้วย ดังต่อไปนี้ 1. การจัดการและการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง 2. การฝึกงานกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (Internship) 3. ความมีคุณธรรมและจริยธรรม 4. การจัดการและบริหารเวลาการทำงานและการใช้ชีวิต
5. การทำงานเป็นทีม 6. การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบทั้ง 6 เรื่องที่เพิ่มเติมจากบันทึกประวัติการศึกษา จะต้องมีประกอบเข้าไปด้วยสำหรับสมัครงาน ซึ่งจะต้องทำเป็นพอร์ทฟอริโอ ( Portfolio) ส่วนที่สำคัญมากก็คือ การฝึกงาน (Internship) ที่นักการศึกษาไทยเรียกว่า สหกิจศึกษา (Cooperative Education)

การทำเช่นนี้ก็จะทำให้การอุดมศึกษาได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหรือของประเทศ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ได้.

รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
[email protected]



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.