บทเรียนจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก...ปลุกคนไทยเลิกยึดติดใบปริญญา
 


บทเรียนจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก...ปลุกคนไทยเลิกยึดติดใบปริญญา


บทเรียนจากมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก...ปลุกคนไทยเลิกยึดติดใบปริญญา
เป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไปแล้ว กรณี “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” ซึ่งทำให้วงการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาร้อนขึ้นมาทันที ขณะที่สังคมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างและมีคำถามมากมายตามมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการศึกษาอีกแล้ว มีมหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ในประเทศไทยด้วยหรือ ตั้งอยู่ที่ไหน  สอนเกี่ยวกับอะไร  แล้วมหาวิทยาลัยไปทำอะไรร้ายแรงถึงต้องถูกตรวจสอบ และที่สำคัญเรื่องใหญ่โตมากขนาดดีเอสไอต้องเข้ามารับเป็นคดีพิเศษหรือ

ขณะที่ ดีเอสไอ ระบุการรับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากพบข้อเท็จจริงการกระทำผิดหลายประเด็น  เช่น มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยตามมาตรา10 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2550  มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดสันติภาพโลก การใช้คำว่ามหาวิทยาลัย ประกอบซึ่งในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย เอกสาร หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จึงเป็นความผิดตามมาตรา  22 ประกอบ มาตรา 109 และมอบปริญญาบัตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยผู้รับต้องเสียค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรายละ 15,000-350,000 บาท ถือเป็นการหลอกลวงและความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มาตรา 341 และมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

จากกรณีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ที่ไม่ได้ขออนุญาตดำเนินการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ไม่ได้จัดการเรียนการสอน แต่แอบมอบปริญญาเอกให้กับบุคคลมีชื่อเสียง นักการศึกษา พระสงฆ์ ศิลปิน นักการเมือง ไปกว่า 1,000 คนแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มีบางคนเรียกตัวเองว่าดอกเตอร์  (ดร.) และมีหลายคนเชื่อไปแล้ว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้สังคมไทยเริ่มสงสัยและหันกลับมามองว่าแล้วดร.ที่อยู่รอบตัวและเกลื่อนไปทั่วเมืองเป็น ดร.จริงหรือดร.ปลอม รวมถึงใบปริญญาบัตรต่าง ๆ ที่ไปรับหรือมหาวิทยาลัยมอบให้กันนั้นน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน  และจากนี้เราจะรู้ หรือเลือกเรียนในมหา วิทยาลัยไหนดีที่คิดว่ามีคุณภาพโดยไม่ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก

และคนที่จะมาให้ความรู้และความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีในเวลานี้น่าจะเป็น รศ.นพ.กำจร ตติยกวี  รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบ กำกับและติดตามการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ. บอกว่า  เริ่มต้นต้องดูความหมายของมหาวิทยาลัยก่อนว่าคือแหล่งรวมความรู้  จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ สร้างปัญญาชน เพื่อไปเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ 

ส่วนการจะตั้งและเปิดดำเนินการมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น รศ.นพ.กำจร บอกว่า  ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่ให้ตัั้งมหาวิทยาลัยของรัฐใหม่ แต่ให้ยุบหรือหลอมรวมกัน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า  ส่วนการขอตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และการขอรับใบอนุญาตและการขอใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งมีขั้นตอนเยอะมาก เพื่อมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้อย่างมีคุณภาพจริง ๆ แต่กรณีมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกไม่ได้อยู่ในสารบบของมหาวิทยาลัยในประเทศ ไทย แต่กลับเรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยถือว่ามีความผิด หรือจะมาอ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศอื่นไม่ได้ เพราะใช้ชื่อเป็นภาษาไทย เมื่อไม่เป็นมหาวิทยาลัยก็ประสาทปริญญาไม่ได้ การไปให้ ดร.หรือปริญญากิตติมศักดิ์ก็ไม่ได้เช่นกัน

รศ.นพ.กำจร ยังฝากบอกอีกว่า อยากให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่สนใจจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ช่วยตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกเรียนในหลักสูตรหรือสถาบันใดท่ี http://www.mua.go.th/users/bhes/index.htm โดย 1. ต้องดูหลักสูตรทุกสาขาวิชาต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาและผ่านการรับทราบจาก สกอ. 2. หลักสูตรทุกสาขาวิชาที่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องผ่านการรับรองจากองค์กรวิชาชีพ 3. หลักสูตรที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบัน ต้องผ่านการรับทราบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) 4. สถาบันอุดมศึกษาที่เลือก ควรผ่านมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ผ่านมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาภายนอก จากสํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบการบริหารของสถาบัน
1. ข้อมูลระบบการลงทะเบียนที่ถูกต้อง 2. รายชื่อและคุณวุฒิของอาจารย์ประจําหลักสูตรต่าง ๆ จากเอกสารหลักสูตรที่ผ่านการรับทราบจาก สกอ. และ 3. การให้บริการต่าง ๆ ตามสิทธิที่นิสิตนักศึกษาพึงจะได้รับ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายที่สถาบันอุดมศึกษาพึงปฏิบัติต่อนิสิตนักศึกษา อย่างไรก็ตามพบปัญหาการจัดการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถแจ้งสภาสถาบันอุดมศึกษานั้นได้ หรือสอบถามได้ที่ สกอ. โทร. 0-2610-5380, 0-2610-5374, 0-2610-5378, 0-2610-5454, 0-2610-5379 และโทรสาร 0-2354-5530, 0-2354-5491

จากนี้คงต้องรอดูว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลกจะจบลงอย่างไร แต่บทเรียนจากมหาวิทยาลัยนี้น่าจะช่วยทำให้สังคมไทยตาสว่างมากขึ้น และไม่ติดยึดกับใบปริญญาจนไม่คำนึงว่าจะได้รับความรู้หรือไม่.

พูนทรัพย์ ทองทาบ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.