ศาสนาไทยๆ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
 


ศาสนาไทยๆ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


 ศาสนาไทยๆ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

(ที่มา:มติชนรายวัน 8 ก.ค.2556)

 

 




ปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกิดในเมืองไทยช่วงนี้ ไม่ใช่ของใหม่อะไร เคยเกิดมาหลายครั้งหลายหนแล้ว จะแปลกหน่อยก็ตรงที่มันมาประชุมเกิดในเวลาใกล้เคียงกันเท่านั้น ย้อนกลับไปดูตัวปรากฏการณ์สามครั้งที่ก่อให้เกิดความ อื้อฉาวŽ ประเภทต่างๆ ดู

พระดังรูปหนึ่งถูกแฉว่าใช้ชีวิตประหนึ่งอภิมหาเศรษฐี ขนาดเดินทางไปฝรั่งเศสยังเช่าเจ็ตส่วนตัวเดินทาง นอกจากนี้ก็มีเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงๆ ประดับตัวแพรวพราว เมื่อเรื่องเริ่มดังขึ้น องค์กรศาสนาไทย (ทั้งฝ่ายพระและฆราวาส) ก็ได้แต่แหะๆ เพราะพลิกพระวินัยดูแล้ว ไม่ผิดตรงไหน แม้ว่าชัดเจนว่าผิดเป้าหมายของการบวชอย่างแน่นอนก็ตาม จนในที่สุดแรงกดดันของสังคมก็ทำให้อำนาจรัฐต้องเข้ามาแทรก ในระยะหลังความผิดของพระรูปดังกล่าวกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายบ้านเมือง คือ ฉ้อโกงประชาชน, ผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่สร้างพระสำคัญโดยไม่ขออนุญาต, และอาจจะฟอกเงินด้วย ท้ายสุดได้ยินว่ามีลูกมีเมียด้วย ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้องค์กรศาสนาสามารถขจัดพระรูปนี้ออกไปได้

อย่างไรก็ตาม ผมสนใจท่าทีแหะๆ ขององค์กรศาสนาในระยะแรกมากกว่า เหตุใดวิถีการดำเนินชีวิต (หรือแม้แต่คำสอน) ของภิกษุจึงอยู่พ้นการบังคับควบคุมขององค์กรศาสนา ทำอะไรก็ได้ เชื่ออะไรก็ได้ สอนอะไรก็ได้ ขอแต่อย่าให้ผิดพระวินัยเป็นพอ พิจารณาอย่างเป็นธรรม ก็จะพบว่าความแปรเปลี่ยนในเรื่องจุดมุ่งหมายการบวชก็ตาม หรือแม้แต่คำสอนก็ตาม ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานมนานกาเลแล้วในบรรดาสังคมเถรวาท แม้เพียงไม่กี่ร้อยปีหลังพุทธกาลในอินเดีย (ดู Luis O. Gomez, Bones, Stones, and Buddhist Monks เป็นต้น) เมืองไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ฉะนั้นเมื่อรวมศูนย์องค์กรศาสนาในสมัย ร.5 จึงวางรูปแบบให้องค์กรศาสนามีหน้าที่แหะๆ มาแต่ต้น เปิดให้รัฐเข้ามากำกับควบคุมด้วยอำนาจโดยตรงมากกว่า

สิ่งที่ทำให้ผมสงสัยก็คือ ตกมาถึงสมัยนี้แล้ว ทำไมจึงต้องจัดองค์กรศาสนาให้รวมศูนย์ แทนที่จะปล่อยให้เกิดองค์กรศาสนาหลายรูปแบบซึ่งต้องแข่งขันหาความนิยมในสังคมเอาเอง และทำไมจึงต้องเป็นภาระของรัฐด้วยเล่า



ปรากฏการณ์ที่เกิดไล่ๆ กันคือการสึกไปแต่งงานของพระคเวสโก หรือมิตซูโอะ ซึ่งเป็นเถราจารย์ที่ได้แสดงธรรมเทศนาให้จับใจคนชั้นกลางจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดความผิดหวังอย่างกว้างขวางในหมู่สานุศิษย์ ปฏิกิริยาออกมาสองทาง หนึ่งคือกล่าวโทษผู้หญิงคนนั้นตามวัฒนธรรมไทย ที่เห็นผู้หญิงเป็น มารŽ เสมอ สองโจมตีท่านมิตซูโอะอย่างโหดร้ายประหนึ่งเป็นคนลวงโลก ทั้งๆ ที่ท่านก็สึกออกมาเป็นฆราวาสก่อนแต่งงาน คำสอนของท่านก็เป็นคำสอนให้แก่ มนุษย์Ž คือทั้งพระและฆราวาสก็สมควรปฏิบัติ แต่คำสอนของท่านมีความสำคัญน้อยกว่าตัวท่านที่นุ่งเหลือง เหมือนพระพุทธรูปสำคัญน้อยกว่าพุทธธรรม

ปรากฏการณ์พระมิตซูโอะทำให้ผมสงสัยว่า ความเมตตากรุณาหายไปไหนในสังคมพุทธไทย และความเมตตากรุณานั้นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเห็นคนเป็นคน มีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอในตัวเอง หากมองไม่เห็นแค่นี้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักความเมตตากรุณาได้จริง นอกจากท่องเอาจากพระบาลี

ความสำคัญสุดยอดของพระพุทธรูปเป็นประเด็นในปรากฏการณ์ที่สาม เมื่อมีชาวพุทธพากันไปประท้วงเยอรมนีที่หน้าสถานทูต เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเพราะเทศบาลเมืองมิวนิกจัดนิทรรศการทางศิลปะโดยใช้พื้นที่ของเมืองเป็นที่แสดงงาน เชิญศิลปินจากทั่วโลกไปสร้างผลงาน หนึ่งในศิลปินเป็นชาวเอเชียชื่อนาย Han Chong จากมาเลเซีย เขาเอาพระพุทธรูปประทับนั่งองค์ใหญ่พอสมควร แต่จับหงายพระปฤษฎางค์ไว้บนพื้นถนน ก็คงมีคนมาถ่ายรูปพระนอนหงาย และคงมีเด็กหรือไม่เด็กขึ้นไปขี่เพื่อถ่ายรูปด้วย

ทั้งหมดนี้ตรงกับชื่อนิทรรศการที่ทางเทศบาลเมืองมิวนิกตั้งไว้เลย คือ พื้นที่หนึ่งซึ่งเรียกว่าสาธารณะŽ ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาช่วงชิง พื้นที่Ž ทางสังคมไปมากที่สุดคือศาสนา (ยิ่งคิดว่าศิลปินมาจากมาเลเซียก็ยิ่งเห็นชัดมากขึ้น) ดังนั้น หากศาสนาล่มลง ก็จะเกิดพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก เราจะเห็นด้วยกับสารของเขาหรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่ก็ไม่ควรปฏิเสธว่าเป็นงานศิลปะที่ทรงพลังพอสมควรทีเดียว ยิ่งมีเด็กมาปีนป่ายเล่น ยิ่งสื่อความได้ชัดขึ้นไปอีก และที่จริงไม่จำเป็นต้องเป็นพระพุทธรูป เป็นรูปเคารพในศาสนาใดก็ได้ แต่เพราะศิลปินเป็นจีนมาเลย์ พุทธศาสนาคงเป็นศาสนาของเขา (อย่างน้อยก็โดยทางการ) จึงต้องใช้พระพุทธรูป

เขาตั้งใจเลยครับที่จะไม่ปฏิบัติต่อรูปเคารพอย่างรูปเคารพ (แต่ก็เพราะเป็นรูปเคารพจึงมีความหมาย) ทางเทศบาลมิวนิกยืนยันที่จะจัดนิทรรศการต่อไปจนสิ้นเดือนกันยายน ตามกำหนดเดิม พุทธศาสนิกควรมีท่าทีต่อนิทรรศการนี้อย่างไร ในทรรศนะของผมคือใช้ปัญญา และมีสติ

เราอาจทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้จากหลายแง่หลายมุม และก็มีผู้อื่นได้แสดงความเห็นไปมากแล้ว แต่บังเอิญไม่ตรงกับความเข้าใจของผม จึงอยากแสดงความเข้าใจนั้นบ้าง



ความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาที่สำคัญซึ่งเกิดในโลกปัจจุบันโดยทั่วไปก็คือ ศาสนาที่มีการจัดองค์กร (organized religion) กำลังเสื่อมพลังลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าศาสนากำลังเสื่อมพลังลง ศาสนาก็เหมือนสถาบันทางสังคมอื่นๆ ย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็คือศาสนาในมิติของศาสนาที่มีการจัดองค์กรกำลังเสื่อมอิทธิพลลง ส่วนที่เหลืออยู่และมีอิทธิพลมากกว่า คือศาสนาที่เป็นความเชื่อและแบบปฏิบัติทางพิธีกรรมของแต่ละปัจเจกบุคคล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นอัตลักษณ์ของบุคคลไปพร้อมกัน ไม่ใช่เฉพาะที่ไปลงไว้ในทะเบียนราษฎรนะครับ แต่เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์แบบไหน สายไหน มีแบบปฏิบัติเชิงพิธีกรรมอย่างไรด้วย

จะว่าศาสนาส่วนนี้เสื่อมพลังก็เห็นจะไม่ใช่ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เราเห็นพลังส่วนนี้ของศาสนาในการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองภายในประเทศ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่เสมอ บางเรื่องมากกว่าสมัยก่อนที่เชื่อกันว่าศาสนายังรุ่งเรืองมั่นคงดีด้วยซ้ำ (เช่นผมยังไม่เคยได้ยินคนไทยโบราณโจมตีจักรวรรดินิยมตะวันตกว่าเป็นมิจฉาทิฐิสักที แต่ได้ยินอคติที่มีแก่คนด้วยเหตุที่เขาเป็นมุสลิมในปัจจุบันบ่อยมาก) ที่ยกพวกกันไปประท้วงหน้าสถานทูตเยอรมนี ก็เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางศาสนา

หลายท่านคงท้วงว่า แม้จะเรียกว่าศาสนาเหมือนกัน แต่มี หลักธรรมŽ ที่แตกต่างกันมากจนน่าจะถือเป็นคนละศาสนาได้ ข้อนี้จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การถามหา หลักธรรมŽ ที่ถูกต้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น เป็นวิธีตั้งคำถามในสมัยที่ศาสนาซึ่งมีการจัดองค์กรยังมั่นคงแข็งแรงดีอยู่ เพราะศาสนาแบบมีการจัดองค์กรย่อมสร้าง หลักธรรมŽ อันถูกต้อง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ศาสนิกยึดถือ เมื่อศาสนาแบบนั้นอ่อนพลังลงแล้ว จะใฝ่ฝันให้ผู้คนยังยึดถือหลักธรรมอัน ถูกต้องŽ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้

พุทธแบบผม กับพุทธแบบคุณ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน พุทธส่วนที่ถูกยึดเป็นอัตลักษณ์ของผม กับส่วนที่ถูกยึดเป็นอัตลักษณ์ของคุณ จึงไม่เหมือนกันด้วย เพียงแต่เราต่างอ้างว่าเป็นชาวพุทธเหมือนกันเท่านั้น



หลักธรรมที่แต่ละคนยึดถือแบบไม่เหมือนกันนั้น แม้อาจถูกเหยียดว่าไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ตอบสนองชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันอย่างยิ่ง การที่ใครสักคนเติบโตมากับความเชื่อเรื่องพุทธคุณในเชิงอิทธิปาฏิหาริย์ ก็ทำให้ส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาแวดล้อมอยู่กับคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกัน ขยายออกไปเป็น ตลาดŽ ที่เขาสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนสินค้าได้ (อย่าลืมว่า ตลาดŽ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตไม่น้อยไปกว่าศาสนา) สร้างตัวตนของเขาขึ้นในแวดวงนั้น และอาจทำกำไรได้จากความเชื่อแบบนี้บ้าง หากความเชื่อนี้ถูกทำลายลง แล้วจะให้เขายืนอยู่ที่ใดในโลก

ไม่ต่างจากคำสอนของท่านมิตซูโอะ มีคนจำนวนไม่น้อยที่น้อมรับมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของตน คบหาสมาคมและแวดล้อมกับคนที่ยึดมั่นแบบเดียวกัน เกิดทั้งตัวตนและบริบทของตัวตนที่ชีวิตของเขาก้าวเดินไป สร้างท่านมิตซูโอะขึ้นเป็นเครื่องหมายแห่งอัตลักษณ์ของตนเองและของกลุ่ม จู่ๆ ท่านก็สึกแล้วแต่งงาน จะหาพื้นที่ตรงไหนในโลกให้คนเหล่านี้ยืนอยู่ต่อไปล่ะครับ นั่นคือเหตุที่ทำให้ขาดเมตตากรุณา เหมือนคนกำลังตกน้ำตาย ย่อมคว้าทุกอย่างแม้แต่ผู้ลงไปช่วยให้จมดิ่งลงสู่หายนะร่วมกัน

สานุศิษย์ของเณรคำก็เหมือนกัน และอย่าถามถึงความเที่ยงแท้ (validity) ของหลักธรรมเลยครับ เพราะเอาเข้าจริงพระภิกษุทั้งสองอยู่ชายขอบของ ศาสนาที่มีการจัดองค์กรŽ ของไทยทั้งคู่

อันที่จริง จะว่าศาสนาที่มีการจัดองค์กรเสื่อมพลังลงก็อาจไม่ถูกต้องนัก ที่ถูกควรพูดว่าการจัดองค์กรของศาสนาที่ยังมีพลังอยู่ก็มี แต่เป็นองค์กรที่ไม่รวมศูนย์ และต่างสำนักต่างก็จัดองค์กรของตนเอง องค์กรศาสนาในสมัยก่อนจัดขึ้นเพื่อตอบสนองรัฐ หรือตอบสนองสังคมประเพณีที่ผู้คนยังไม่แตกตัวออกเป็นปัจเจกบุคคลมากนัก ศาสนาที่จัดองค์กรแบบนี้แหละที่เสื่อมพลังลง การจัดองค์กรในสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จคือจัดองค์กรเพื่อตอบสนองตลาด ซึ่งพบได้ในเมืองไทยก็หลายสำนัก และมีกลาดเกลื่อนในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ต่างได้สานุศิษย์จำนวนเป็นล้าน และได้ค่าตอบแทนอีกหลายๆ ล้านทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย ศาสนาที่มีการจัดองค์กรแบบเก่าได้รับการปกป้องจากรัฐ เพราะรัฐใช้ประโยชน์จากศาสนาแบบนี้ได้มาก แต่ในทางปฏิบัติคนไทยก็ไม่ได้นับถือศาสนาแบบนี้เป็นหลักไปนานแล้ว ต่างก็มี อาจารย์Ž ของตนเอง ทั้งที่ครองผ้าเหลืองและไม่ได้ครอง

ศาสนาทั้งที่มีการจัดองค์กรและไม่มีเหล่านี้แหละครับ ที่อยู่ร่วมกันไปในสังคม ภายใต้ชื่อเดียวกันว่าพระพุทธศาสนา


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.