เส้นทางพระเจ้าตาก ท่องเที่ยวทางเลือก
 


เส้นทางพระเจ้าตาก ท่องเที่ยวทางเลือก


 เส้นทางพระเจ้าตาก ท่องเที่ยวทางเลือก

คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




รมต. ท่องเที่ยวฯ น่าจะเคยได้ยินประวัติศาสตร์กรุงแตก ที่พระเจ้าตากพาพรรคพวกไพร่พลไทยจีนตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมกรุง มุ่งไปตั้งหลักที่เมืองจันทบุรี

ควรกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางพระเจ้าตากจากกรุงเทพฯไปอยุธยา ถึงจันทบุรี แล้ววนเข้ากรุงเทพฯ เป็นวงกลม

โดยทำป้ายบอกเส้นทางประวัติศาสตร์ไว้ข้างถนนเป็นระยะๆ แล้วมีแผ่นพับพร้อมแผนที่อธิบายย่อๆ ง่ายๆ

พระเจ้าตากพาพรรคพวกไพร่พลออกจากอยุธยาก่อนกรุงแตก มุ่งชายฝั่งทะเลตะวันออก จะไปตั้งหลักทางเมืองจันทบุรี

จากอยุธยา ผ่านไปทางนครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี แล้วยกไปตีถึงตราด

เมื่อได้จังหวะเวลาถึงยกกองเรือเลียบชายฝั่ง เข้าปากน้ำเจ้าพระยา ยึดคืนได้เมืองบางกอก(กรุงเทพฯ)และอยุธยา

เส้นทางพระเจ้าตาก จากอยุธยาผ่านไปท้องที่ต่างๆ ซึ่งมีชื่อในพระราชพงศาวดารบ้าง และสันนิษฐานเพิ่มเติมบ้าง (ยังไม่ถือเป็นยุติ จึงหารือปรับเปลี่ยนได้) ตามชื่อทางการปัจจุบัน และตามลำดับเส้นทางคมนาคมทุกวันนี้ที่เชื่อมถึงกัน ดังนี้

(1) ออกจาก จ. พระนครศรีอยุธยา ผ่าน อ. อุทัยธานี (2) เข้าเขต จ. สระบุรี ผ่าน อ. หนองแค-อ. วิหารแดง (3) เข้าเขต จ. นครนายก ผ่าน อ. บ้านนา-อ. เมือง-อ. ปากพลี (4) เข้าเขต จ. ปราจีนบุรี ผ่าน อ. เมือง-อ. ประจันตคาม-อ. ศรีมหาโพธิ-อ. ศรีมโหสถ (5) เข้าเขต จ. ฉะเชิงเทรา ผ่าน อ. พนมสารคาม-อ. แปลงยาว (6) เข้าเขต จ. ชลบุรี ผ่าน อ. พนัสนิคม-อ. เมือง-อ. บ้านบึง-อ. บางละมุง (7) เข้าเขต จ. ระยอง ผ่าน อ. เมือง- อ. แกลง (8) เข้าเขต จ. จันทบุรี ผ่าน อ. นายายอาม-อ. ท่าใหม่-อ. เมือง แล้วยกไปตีกวาดต้อนกองเรือถึง จ. ตราด

บางท้องที่มีคำบอกเล่าของชาวบ้านเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์สนุกสนานด้วย เช่น

ที่ปราจีนบุรี พระเจ้าตากหยุดพักรอสมัครพรรคพวกไพร่พลที่ตามไม่ทันอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ดงศรีมหาโพธิ์ ต. โคกปีบ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี

ที่นี่มีเมืองมโหสถ อายุราว 1,500 ปีมาแล้ว เหมาะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้

ที่ระยอง พระเจ้าตากพักแรมที่ต้นสะตือ ในวัดลุ่ม ต. ท่าประดู่ อ. เมือง จ. ระยอง

 

ที่ อ. แกลง จ. ระยอง มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ เพราะพระเจ้าตากยังปราบกลุ่มกระด้างกระเดื่องที่เมืองแกลงและย่านใกล้เคียงไม่สำเร็จ จนถึงแผ่นดิน ร.1 จึงโปรดให้วังหลังส่งพ่อสุนทรภู่ออกบวชไปเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่บ้านกร่ำ เพื่อเกลี้ยกล่อมผู้คนเมืองแกลงให้สวามิภักดิ์ ต่อจากนั้นส่งสุนทรภู่ไปราชการลับเพื่อการนี้ จนมีนิราศเมืองแกลง

ที่บอกมานี้เป็นการท่องเที่ยวทางเลือก ซึ่งกระจายรายได้เป็นประโยชน์โดยตรงถึงชาวบ้านแต่ละท้องที่

แล้วยังสนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ด้านสังคมและด้านท้องถิ่นที่เห็นถึงวิถีชีวิตไพร่ด้วย ซึ่งมีรสชาติต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ

หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2556



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.