เมืองภูเก็ตจับมือกรมอนามัยพัฒนาส้วมในแหล่งท่องเที่ยว-เดินหน้าคลินิกไร้พุง
 


เมืองภูเก็ตจับมือกรมอนามัยพัฒนาส้วมในแหล่งท่องเที่ยว-เดินหน้าคลินิกไร้พุง


เมืองภูเก็ตจับมือกรมอนามัยพัฒนาส้วมในแหล่งท่องเที่ยว-เดินหน้าคลินิกไร้พุง
ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อ 7 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยในแหล่งท่องเที่ยวและการดำเนินงานคลินิกคนไทยไร้พุง หรือ DPAC ว่า “ภูเก็ต” ถือเป็นอีกหนึ่งหัวเมืองใหญ่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องพัฒนาส้วมสาธารณะในภูเก็ตให้ได้มาตรฐาน HAS H Healthy คือ สะอาด  A Accessibility คือ เพียงพอ และ S Safety คือปลอดภัย โดยนายแพทย์เจษฎาได้พาเยี่ยมชมส้วมทั้งในศูนย์เด็กเล็ก ส้วมในโรงเรียน ส้วมในสถานที่ท่องเที่ยว วัด และร้านอาหารพร้อมทั้งอธิบายว่าการพัฒนาส้วมในแหล่งท่องเที่ยวถือเป็นส้วม 1 ใน 12 กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการพัฒนาส่วน  11 แห่งที่เหลือได้แก่ สถานศึกษา สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ศาสนสถาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบก/ทางอากาศ และส้วมสาธารณะริมทาง   ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) เพื่อส่งเสริมให้ครัวเรือนมีและใช้ส้วมนั่งราบ หรืออุปกรณ์ช่วยสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาข้อเข่าร้อยละ 90 และเพื่อให้ส้วมในสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2559

ส่วนเหตุผลที่ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีและใช้ส้วมนั่งราบคุณหมอเจษฎาบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 11.7 (7.5 ล้านคน) ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 (14.5 ล้านคน) ในปี 2568 และคาดว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรไทย สุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบมากที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุหรือในวัยกลางคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้วการใช้ส้วมนั่งยองติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ หลายปี ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมการขับถ่ายของคนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ส้วมนั่งยองถึงร้อยละ 86 ในขณะที่ส้วมนั่งราบมีเพียงร้อยละ 10.1 และมีบ้านที่ใช้ส้วมนั่งยองและส้วมนั่งราบร้อยละ 3.1 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2553

ศูนย์เด็กเล็กกมลา จ.ภูเก็ต จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของการเยี่ยมชมในครั้งนี้ ที่ได้มีการพัฒนาส้วมให้เป็นส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาที่เหมาะกับสรีระของเด็ก มีการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องให้กับเด็ก ไม่ใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งหรือขึ้นไปเหยียบบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม และล้างมือให้สะอาดหลังการใช้ส้วมทุกครั้ง เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเอง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญต่อเด็ก ในการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี 

นพ.เจษฎา บอกด้วยว่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาส้วมสาธารณะไทยในจังหวัดภูเก็ตให้มากขึ้น กรมอนามัยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับจังหวัดภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาลนคร  เทศบาลเมืองกะทู้ เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาภูเก็ต เพื่อร่วมกันพัฒนาส้วมสาธารณะจังหวัดภูเก็ตสู่มาตรฐานสากล (HAS)  อันจะส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัยในการใช้บริการส้วมสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ด้วย

ส่วนการดำเนินงานคลินิกคนไทยไร้พุง หรือ DPAC (Diet & Physical Activity Clinic) คุณหมอเจษฎา อธิบายว่าเนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลว่าเด็กไทยกว่า 1,200,000 คน ป่วยเป็นโรคอ้วน และยังมีการคาดการณ์ที่น่าตกใจว่า หากไม่มีการเฝ้าระวังเมื่อถึงปี  2558 จะมีเด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนป่วยเป็นโรคอ้วน และ 1 ใน 10 ของเด็กวัยเรียนจะเป็นโรคอ้วน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมทางอาหารและโภชนาการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าเด็กไทยกินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ทั้ง ๆ ที่ควรกินไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ หากปล่อยไว้นอกจากจะส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกินแล้ว โรคอ้วนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต และจะทำให้เกิดโรคมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน หรือสมองขาดเลือด ฯลฯ

สถานที่ที่ไปเยี่ยมชมในช่วงบ่ายวันเดียวกันจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาโรคอ้วนในเด็กนั่นคือโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จ.ภูเก็ต ที่ได้มีการปฏิบัติตามแผนของการดำเนินงานคลินิกคนไทยไร้พุง เพื่อลดปัญหาทุพโภชนาการและโรคอ้วนในเด็กนักเรียน โดยเน้น 5 มาตรการหลัก ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการจัดอาหารกลางวัน อาหารว่างในโรงเรียนให้กินผลไม้แทนของหวาน ดื่มน้ำเปล่า บูรณาการเรื่องโภชนาการในหลักสูตร เร่งรัดการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดจากการโฆษณาอาหารขยะ เร่งรัดการจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยทั้งในและหน้าโรงเรียน และส่งเสริมการออกกำลังกายในโรงเรียนเป็นเวลา 15 นาทีทุกวัน รวมทั้งจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อป้องกันโรคอ้วนกับ 6 ภาคี ได้แก่ เด็ก ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน ครู แผงลอย และสื่อมวลชน ส่งผลทำให้เด็กนักเรียน มีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐานและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นด้วย

เด็กหญิงบุญยาพร ณ บางช้าง นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียวที่ก่อนหน้านี้อ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสูงอยู่ที่ 121 เซนติเมตร หนัก 42 กิโลกรัม  แต่เมื่อใช้เวลา 1 ปี ในการปฏิบัติตามแผนของคลินิกคนไทยไร้พุงหรือ DPAC  ด้วยการออกกำลังกายก่อนเข้าเรียนเพียงวันละ  20 นาที และการไม่กินขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน น้ำหวาน ทำให้น้องบุญยาพรสามารถกลับมามีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน และยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่อ้วนจะรู้สึกเหนื่อย ตอนนี้คล่องแคล่วขึ้น  มีความรู้สึกว่าร่างกายของตนเองแข็งแรงขึ้นด้วย 

“การดำเนินงานของโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียวนับเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่มีเป้าหมายให้นักเรียนเป็นผู้มีสุขภาพดี มีการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น เป็นศูนย์กลางการส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาสุขภาพ  และส่งเสริมสุขอนามัยด้านสุขาน่าใช้ เพื่อลดปัญหาสุขภาพของนักเรียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดีและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ด้วย” นพ.เจษฎากล่าวชื่นชมในตอนท้าย.

ทีมข่าว จ.ภูเก็ต



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.