โพลเอแบค ชี้ เพื่อน คนใกล้ชิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่
 


โพลเอแบค ชี้ เพื่อน คนใกล้ชิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่


โพลเอแบค ชี้ เพื่อน คนใกล้ชิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่

เอแบคโพล ชี้ เพื่อน คนใกล้ชิด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ ขณะที่เกินครึ่งเคยพบการซื้อ-ขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ ร้านสะดวกซื้อ โชห่วย ขายของชำ ยังเป็นแหล่งที่เข้าถึงบุหรี่มากที่สุด

วันที่ 31 พ.ค. นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วันงดสูบบุหรี่โลก กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,036 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา

โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างเพียงหนึ่งในสาม หรือ ร้อยละ 33.7 ทราบว่า วันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ในขณะที่ร้อยละ 66.3 ระบุ ไม่ทราบ

จากการศึกษาพบว่า กว่ากึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.7 ของตัวอย่างที่สูบบุหรี่ตั้งใจจะงดสูบบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่ปีนี้ ร้อยละ 13.8 ตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ และร้อยละ 34.5 ระบุ จะสูบบุหรี่เหมือนเดิม ส่วนบุคคลที่จะพูดคุยและปรึกษาหากตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ อันดับแรก ร้อยละ 52.6 ได้แก่ คนในครอบครัว อันดับสอง ร้อยละ 16.2 ได้แก่ ศูนย์ให้คำปรึกษา อันดับสาม ร้อยละ 13.1 ได้แก่ ตัดสินใจและพยายามด้วยตัวเอง และปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ร้อยละ 8.8 ระบุสถานพยาบาล ร้อยละ 5.7 ระบุบุคคลที่มีประสบการณ์ และร้อยละ 3.6 ระบุเพื่อน ตามลำดับ

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 รู้สึกผิดหวังถ้าเห็นลูกหรือหลานตนเองสูบบุหรี่ ส่วนร้อยละ 10.1 ไม่รู้สึกอะไรเลย

ที่น่าสนใจคือเกือบสองในสามหรือร้อยละ 60.5 ระบุว่า ปัจจัยอันดับแรกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจสูบบุหรี่ ได้แก่ เพื่อน รองๆ ลงมา ได้แก่ ร้อยละ 13.6 ระบุสภาพแวดล้อมและคนรอบข้าง ร้อยละ 10.3 ระบุสื่อประเภทต่างๆ เช่น ทีวี หนังสือ เว็บไซต์ ร้อยละ 8.7 ระบุคนในครอบครัว และร้อยละ 6.9 ระบุปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด อยากรู้อยากลอง ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือกลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 58.5 ระบุว่าเคยพบเห็นการซื้อขายบุหรี่ให้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 81.6 คิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ร้อยละ 18.4 คิดว่าเป็นเรื่องปกติ

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสอบถามถึงแหล่งที่เข้าถึงบุหรี่ได้มากที่สุดพบว่า อันดับแรก ร้อยละ 36.4 ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย ร้านขายของชำ อันดับสอง ร้อยละ 29.6 ได้แก่ สถานบันเทิง อาทิ ร้านคาราโอเกะ ผับ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ อันดับสาม ร้อยละ 14.0 ได้แก่ บริเวณชุมชนที่พักอาศัย อันดับสี่ ร้อยละ 11.9 ได้แก่ โรงเรียน สถานศึกษา และร้อยละ 8.1 ระบุแหล่งอื่นๆ ได้แก่ คนในครอบครัว คนใกล้ตัว ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม สื่อประเภทต่างๆ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 37.6 มีการโฆษณาและซื้อขายบุหรี่กันอย่างเปิดเผยตามร้านค้าต่างๆ ในบริเวณที่พักอาศัยโดยไม่มีการปกปิด



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.