ทฤษฎีฝึกเด็กให้เข้าใจธรรมชาติ สร้างความฉลาดตั้งแต่ยังเล็ก
 


ทฤษฎีฝึกเด็กให้เข้าใจธรรมชาติ สร้างความฉลาดตั้งแต่ยังเล็ก


ทฤษฎีฝึกเด็กให้เข้าใจธรรมชาติ สร้างความฉลาดตั้งแต่ยังเล็ก

คราวก่อนเราได้พูดถึงความฉลาดด้านร่างกายของเด็กกันแล้ว วันนี้เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติ โดยเริ่มต้นพ่อแม่ต้องเข้าใจตัวเองก่อน ในด้านประสบการณ์ชีวิตตัวเอง และบุคลิกภาพของเรา จึงค่อยไปทำความเข้าใจลูก เมื่อลูกได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ที่ดี มีความอิ่มเต็มไว้ใจโลกใบนี้ ลูกก็พร้อมที่จะเข้าใจธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมตนได้

คำว่า “เข้าใจธรรมชาติ” ในความหมายของ ศาสตราจารย์ Howard Gardner นั้นก็คือ ความสามารถในการรู้จักและเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกตความเป็นไปของธรรมชาติ สามารถจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ โดย Gardner กล่าวว่าผู้ที่มีความฉลาดด้านนี้มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ หรือนักสำรวจธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับเด็กที่มีความฉลาดด้านเข้าใจธรรมชาติมักเป็นเด็กที่ชอบสำรวจสิ่งต่างๆ เองทั้งในบ้านและนอกบ้าน แน่นอนว่าการที่เด็กจะมีโอกาสทำเช่นนั้นได้ก็ขึ้นกับพ่อแม่ว่าจะให้ความอิสระแก่ลูกขนาดไหน ในการสำรวจสิ่งแวดล้อม หรือการเล่นของเด็กนั่นเอง

วิธีส่งเสริมความฉลาดด้านเข้าใจธรรมชาติ

•    ให้ลูกมีโอกาสได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเล่นกับพ่อแม่ผ่านกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว การมอง การฟัง การดมกลิ่นต่างๆ ฯลฯ

•    หาโอกาสพาลูกไปเที่ยวชมธรรมชาติข้างนอกบ้าง เช่น สวนสาธารณะต่างๆ หรือพาไปต่างจังหวัดที่มีธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติ อย่าเลี้ยงลูกอยู่แต่ในห้อง เพราะจะขาดโอกาสได้สัมผัสของจริง แม้อาจจะมีพ่อแม่บางท่านคิดว่า กลัวลูกจะไม่สบายหรือกลัวจะเจอสิ่งอันตราย แต่หมอคิดว่าหากเรารอบคอบ ระมัดระวังและวางแผนเป็นอย่างดีก่อนออกจากบ้าน ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลง เด็กจะได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของสมอง ที่จะช่วยพัฒนาความฉลาดด้านอื่นด้วย

•    ให้เด็กมีโอกาสได้เจอสัตว์ประเภทต่างๆ ถ้าได้เลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข แมว ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ได้ใกล้ชิดสัตว์เอง แต่หากมีข้อจำกัด เช่น แพ้ขนสัตว์ ที่พักอาศัยไม่เอื้อ อาจพาไปเจอสัตว์ในธรรมชาติ เช่น ตามสวนสาธารณะ เพราะอาจจจะมีทั้งนก ปลา และผีเสื้อที่เกาะอยู่ตามดอกไม้ก็ได้

•    ให้เด็กมีโอกาสปลูกพืชหรือดูแลต้นไม้ตามโอกาส พวกเขาจะได้เรียนรู้ความหลากหลายของพืชพรรณ ทั้งสี ขนาด รูปทรง การเติบโต กลิ่น ลักษณะที่สัมผัสโดนตัว เช่น พื้นหญ้า ฯลฯ จะเห็นว่าเด็กมีการตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป แต่หากไม่ให้โอกาสเขาเรียนรู้หรือสัมผัสเลย เด็กก็อาจจะกลัวเมื่อโตขึ้นและไม่อยากลองอะไรใหม่ๆ

พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก
โรงพยาบาลเวชธานี



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.