ธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล
 


ธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล


ธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล
วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8211 ข่าวสดรายวัน


ธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล


สัมภาษณ์พิเศษ



โฆษกรัฐบาลควรวางตัวเหมือนนายกฯ ต้องนิ่ง ไม่ใช้อารมณ์ และรับมือได้กับ ทุกสถานการณ์ ที่สำคัญห้ามเป็นคนใจร้อน ปากไว อย่าใช้อารมณ์ตอบโต้ซึ่งกันและกัน





การประชุมครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ค. มีมติแต่งตั้ง นาย ธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ถูกย้ายขึ้นเป็นรองเลขาธิการนายกฯ



ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการ นายกฯ เป็นผู้ทาบทาม เพื่อให้การเผยแพร่ผลงานรัฐบาลแข็งแกร่งขึ้น ไม่ถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกเป็นประเด็นโจมตี



นายธีรัตถ์ ให้สัมภาษณ์เปิดใจ"ข่าวสด" ถึงการรับตำแหน่ง พร้อมทิศทางการทำงานไว้ดังต่อไปนี้





ใครติดต่อทาบทามให้มาเป็นโฆษกรัฐบาล

คนที่ทาบทามมีทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพราะว่าทำรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนมากว่า 2 ปี



และก่อนทำรายการก็รู้จักกับนายกฯ ตั้งแต่ท่านยังทำงานบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รู้จักกันมาพอสมควร



ที่ผ่านมามีโอกาสทำงานกับนายกฯมาโดยตลอด และเมื่อทำรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เจอนายกฯอีก ท่านเลยชวน มาทำงานนี้



กระแสข่าวได้รับการผลักดันจากนายสุรนันทน์

นายสุรนันทน์เป็นคนเสนอเรื่องเข้าไป แต่จริงๆ แล้ว คงมาจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย ที่เป็นคนเอ่ยปากชวนผมมาทำงานด้วยตัวของท่านเอง



จุดเด่นที่รัฐบาลเลือกเข้ามาอยู่ตำแหน่งนี้



ไม่อยากบอกว่าเป็นจุดเด่น แต่อยากบอกว่าอาจเพราะเป็นคนทำงาน และเนื่องจากเคยอยู่วอยซ์ทีวี ซึ่งเมื่อก่อนน.ส.ยิ่งลักษณ์เคยเป็นประธานบอร์ดวอยซ์ทีวี ในสมัยท่านอยู่เอสซี แอสเสทฯ



การทำงานที่นี่เป็นบทบาทของสื่อที่หลอมรวม ทั้งการออกไปทำข่าว เขียนข่าว ฉะนั้นคนคนหนึ่งที่สามารถเข้าใจสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความสำคัญมากสำหรับรัฐบาลในชุดปัจจุบัน



อาจเป็นเพราะทักษะของผมที่ผ่านการทำข่าวและนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายด้าน จนทำให้รัฐบาลเลือกเข้ามาทำงานตรงนี้



ตัดสินใจในครั้งนี้ยากหรือไม่

ยาก เพราะเป็นก้าวสำคัญของชีวิตที่เหมือนเป็นการข้ามเส้น จากที่เราเป็นสื่อมวลชนเป็นคนคอยถาม แต่กลับเป็นฝ่ายที่ต้องถูกถาม จากคนที่ต้องเอาข้อมูลมาเผยแพร่ต่อ กลายมาเป็นคนที่ต้องมาเผยแพร่ข้อมูล คือบทบาทหน้าที่มัน กลับกัน



เครียดพอสมควร เพราะในขณะเดียวกันวอยซ์ทีวีก็กำลังโต และปีนี้เป็นปีสำคัญที่จะมีการประมูลทีวีดิจิตอล เลยรู้สึกว่าไม่อยากทิ้งตรงนี้ไป แต่ฝั่งรัฐบาลหากเขาเห็นความสามารถของเรา ก็อยากไปช่วยเขา



เคยช่วยงานรัฐบาลนี้มาก่อนหรือไม่



ไม่เคยมาก่อน นอกจากจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน อาจเคยไปช่วยดูใบแถลงข่าวจากต่างประเทศ นิดๆ หน่อยๆ แต่ยังไม่เข้าไปมีบทบาทอะไรเต็มที่



รัฐบาลจะมีสื่อใหม่ๆ ให้เห็นหรือไม่

ตอนนี้ยังไม่เห็นว่าสื่อใหม่ที่รัฐบาลมีคืออะไร เห็นมีแต่ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ แต่สิ่งที่จะเข้าไปทำคือจัดระเบียบวิธีการใช้สื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่พอจบการประชุม ครม. แล้วก็มานั่งแถลงข่าว ให้นักข่าวเอาไมค์มาเสียบอย่างเดียว



โลกในปัจจุบันมันเปลี่ยนไป คนหันมาอ่านข้อมูล 3 บรรทัดจากข้อความทวิตเตอร์มากขึ้น ทำอย่างไรดีที่จะทำให้คนเข้าใจกับสิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ กำลังเดินหน้าอยู่อย่างละเอียดมากขึ้น



ไม่ใช่เอาแค่หัวข้อข่าวแล้วนำไปตีความกัน ฉะนั้นต้องใช้สื่อที่หลากหลายมาผสมผสานในการทำงาน



ในฐานะกระบอกเสียงของรัฐบาลจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ

ไม่อยากให้เรียกว่าเป็นกระบอกเสียง แต่อยากให้บอกว่าเป็นคนนำนโยบายของรัฐมาทำความเข้าใจดีกว่า เพราะกระบอกเสียงคือการทำซ้ำแล้วตะแบงออกไป แต่นี่คือคนที่จะอธิบายสาเหตุว่าทำไมรัฐคิดแบบนี้ ทำไมต้องเกิดนโยบายแบบนี้



ฉะนั้นทักษะด้านการสื่อสารที่จบการศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และทักษะการเป็นนักข่าว น่าจะมีส่วนช่วยในการที่จะเอาบางอย่างที่ดูเหมือนว่ายาก มาอธิบายในภาษาที่จะเข้าใจมากขึ้น



เน้นสื่อสารเรื่องใดเป็นพิเศษ

ยังไม่ได้คุยว่าจะต้องรับงานด้านไหนเป็นหลัก แต่มองว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบันจะมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก การขับเคลื่อนประเทศก็คือการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจ



ดังนั้นการที่จะให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องสวัสดิการ เรื่องความเป็นอยู่เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวคนที่สุด



การกู้เงินของรัฐบาลถูกโจมตีตลอด จะเข้ามาช่วยอย่างไร



คงเป็นเรื่องของการให้รายละเอียดว่ากู้ไปเพื่ออะไร อย่างไร คือพยายามทำสิ่งที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง



รัฐบาลถูกโจมตีจากโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กจะแก้ปัญหาอย่างไร

การโจมตีรายวัน การโจมตีกันไปโจมตีกันมาไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น โดยส่วนตัวการตอบโต้รายวันคงไม่ใช่ผม และ คงไม่ใช้โซเชี่ยลมีเดีย แสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด



ผมมองว่าโซเชี่ยลมีเดียคือการสื่อสารในลักษณะบอกเล่าทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผมจะนำไปใช้ในการทำงาน



จะเข้าไปปรับปรุงทีมโฆษกรัฐบาลอย่างไร



คงต้องหาเวลามานั่งคุยกันเพื่อแบ่งงานให้ชัดเจนว่าใครจะทำหน้าที่ไหน ใครเชี่ยวชาญอะไร และทักษะความสามารถ หรืออุปกรณ์ที่อยากได้เพิ่มขึ้นคืออะไร ก็จะมานั่งคุยกันก่อน



การวางตัวท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม

โฆษกรัฐบาลควรวางตัวเหมือนนายกฯ ต้องนิ่ง ไม่ใช้อารมณ์ และรับมือได้กับทุกสถานการณ์ ที่สำคัญห้ามเป็นคนใจร้อน ปากไว อย่าใช้อารมณ์ตอบโต้ซึ่งกันและกัน



แต่ต้องค่อยๆ วิเคราะห์ทบทวน และตอบในสิ่งที่ควรจะตอบที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นเเล้วปัญหาก็จะ ไม่จบ



หนักใจหรือไม่กับการทำหน้าที่ตรงนี้

หนักใจ ชีวิตโตมาในคนที่มีสองสีมาโดยตลอด ยิ่งในปัจจุบันเพื่อนผมมีทุกสีก็ว่าได้ แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน ได้ ความเชื่อทางการเมืองเป็นเพียงความนิยมส่วนบุคคล แต่ไม่ควรบังคับให้ต้องเหมือนกัน อย่างน้อยเราก็ควรเคารพกันในความเป็นคนอยู่



ยืนยันว่าจะไม่เน้นแถลงตอบโต้รายวัน แต่จะเน้นในเรื่องแถลงเหตุผลและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลให้ประชาชนเข้าใจ



จุดอ่อนในการสื่อสารของรัฐบาล

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการให้ข้อมูล แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนได้รับข้อมูลเพียงพอแล้วหรือยัง หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถูกนำไปขยายผลต่ออย่างเชื่อมโยงแล้ว หรือไม่



ดังนั้นถ้ามีทีมงาน มีการวางแผนอย่างชัดเจนมากขึ้นว่ามีเป้าหมายอย่างไร จะเดินไปด้วยกันอย่างไร ก็จะทำให้ ทุกภาคส่วนมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน



แต่หากคนหนึ่งตอบอย่าง คนหนึ่งตอบอีกอย่าง ถ้ารู้สึกแบบนั้นก็ต้องมาคุยว่าเป้าหมายใหญ่ของเราคืออะไร โครงการแต่ละโครงการเป็นอย่างไร



ถ้าทุกองคาพยพไปด้วยกันก็จะทำให้เห็นความเป็นเอกภาพของการสื่อสาร ข้อมูลก็จะนิ่งขึ้น



จะช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลงอย่างไร

ตอบไม่ได้ 100% แต่ถ้าเรามีความเชื่อว่าหากใช้การสื่อสารที่ให้ความเข้าใจ ไม่ใช่ให้ประโยชน์เฉพาะเราฝั่งเดียวเท่านั้น แต่ให้เป็นประโยชน์กับทุกคน ถ้าอธิบายได้ก็น่าจะทำให้ความขัดแย้งลดลงมาได้


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.