ชั่งน้ำหนักสปีชปู-แถลงปชป.
 


ชั่งน้ำหนักสปีชปู-แถลงปชป.


ชั่งน้ำหนักสปีชปู-แถลงปชป.
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8201 ข่าวสดรายวัน


ชั่งน้ำหนักสปีชปู-แถลงปชป.


รายงานพิเศษ



ซ้าย-ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

กลาง-พวงทอง ภวัครพันธุ์

ขวา-สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ยังเป็นที่วิจารณ์ต่อเนื่องสำหรับสปีชของ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่มองโกเลีย กับแถลงการณ์ตอบโต้จากพรรคประชาธิปัตย์



โดยเฉพาะเนื้อหาในแถลงการณ์นั้นมีประเด็นใดบ้างที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถยกเหตุผลมาโต้แย้งบทปาฐกถาร้อนของนายกฯ ได้บ้าง



ในสายตาคนดูนอกสนามแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

แถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาตอบโต้ปาฐกถาของนายกฯ พบว่ามีปัญหาอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.หลักการพรรคประชาธิปัตย์ 2.ข้อเท็จจริง และ 3.คำอธิบายในแถลงการณ์



แถลงการณ์ฉบับนี้แสดงถึงหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามวิจารณ์ระบบการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าเชื่อถือไม่ได้ ไม่มีความเป็นธรรม



ยิ่งในแถลงการณ์ไม่ได้เน้นถึงระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง หรือเน้นเรื่องการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ แต่กลับไปเน้นถึงคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง



เท่ากับแสดงว่ารัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการเข้ามาบริหารประเทศไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง



ในแถลงการณ์ยังอธิบายเหตุการณ์การเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย รวมทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เกิดการทุจริต แทรกแซงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และคุกคามประชาชนหรือภาคประชาสังคม



ซึ่งแถลงการณ์ฉบับนี้ละเลยข้อเท็จจริงบางอย่าง เช่น การคุกคามภาคประชาสังคม จากข้อมูลที่ปรากฏทราบว่าปี 2552-2553 เป็นช่วงที่มีคำสั่งปิดเว็บไซต์และวิทยุชุมชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกับแนวทางของรัฐบาลอภิสิทธิ์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์



รวมทั้งมีการขึ้นบัญชีดำ จับกุมผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก แล้วแบบนี้ใครกันแน่ที่คุกคามประชาชน



โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่บอกว่ารัฐบาลฝั่งทักษิณพยายามแทรกแซงอำนาจองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่าองค์กรอิสระเสียเองที่พยายามแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ



ดังนั้น แถลงการณ์ฉบับนี้บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างมาก เป็นวิธีการเดิมๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้โจมตีฝ่ายตรงข้าม



ส่วนคำอธิบายในแถลงการณ์พบว่า พูดถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์แค่ 1 ย่อหน้า เนื้อหาที่เหลือพูดถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ อดีตนายกฯ สมัคร และอดีตนายกฯ สมชาย ทั้งที่เป็นแถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีปาฐกถามองโกเลีย



บ่งบอกถึงวิธีการของพรรคประชาธิปัตย์ที่มักใช้โจมตีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยการพูดถึงการกระทำของอดีตนายกฯ และทำราวกับว่าเป็นความผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งหมด



ยุทธวิธีต่อสู้แบบเดิมไม่ได้ปรับตัวหรือปฏิรูปเลยแม้ แต่น้อย



ทั้งที่การปาฐกถาของน.ส.ยิ่งลักษณ์พูดถึงกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตย และการทำรัฐประหารปี"49 ไม่ได้กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย



ฉะนั้นแถลงการณ์ลักษณะนี้ได้แสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มสุดท้ายที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกันแล้ว



อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ฉบับนี้คงเป็นที่ถูกใจผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หรือเรียกทางการค้าว่า "เอาใจลูกค้า" แต่หากจะตีตลาดผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองให้คล้อยตามถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง



ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้แสดงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย





พวงทอง ภวัครพันธุ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ



ประเด็นการแถลงตอบโต้กันไปมาระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรครัฐบาลไม่ได้สำคัญที่ข้อเท็จจริง อยู่ที่จุดยืนของผู้รับมากกว่าว่าอยู่ข้างใคร



แต่จากการติดตามแถลงการณ์พรรคประชาธิปัตย์ เห็นประโยคแรกที่ระบุว่ารัฐประหารปี"49 เป็นเพียงการแทรกแซงโดยทหารเท่านั้น ซึ่งอ่านแล้วรับไม่ได้



เป็นการพยายามใช้คำหลีกเลี่ยง ที่เบา เพราะรู้ว่าเป็นคำที่รุนแรงหากส่งไปยังสถานทูตประเทศต่างๆ ทั้งที่คำของน้ำหนักผิดไปจากข้อเท็จจริงของคำว่า "รัฐประหาร" ที่มีความรุนแรงมาก



กรณีนายกฯ วิจารณ์กลุ่มสนับสนุนรัฐประหารแล้วถูกมองว่าขายชาตินั้น ถ้าอย่างนั้นช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งมีการส่งกลุ่มเอ็นจีโอเดินสายต่างประเทศเพื่อแสดงเหตุการณ์รัฐประหารปี"49 ที่เกิดขึ้น ไม่เรียกว่าเป็นการขายชาติยิ่งกว่าหรือ เอาประเทศไปขายชัดเจน โดยที่เหตุผลการรัฐประหารก็ฟังไม่ขึ้น



แม้แต่ประเด็นการสลายการชุมนุม ต่อให้ผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธจริง รัฐบาลก็ไม่สามารถใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมได้ จนเป็นสาเหตุทำร้ายผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บและเสียชีวิต



คงไม่ต้องบอกว่าคำพูดฝ่ายใดมีน้ำหนัก ผู้ติดตามข่าวการเมืองย่อมรู้ดี เพราะการออกแถลงการณ์ตอบโต้นายกฯ มันชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่ากำลังสนับสนุนการรัฐประหารอย่างไร



หากจะตอบโต้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ได้ ก็ต้องสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ด้วย อีกทั้งในสายตาต่างชาติก็มีมาตรฐานในการมองปัญหาอย่างมีกฎเกณฑ์ ซึ่งแตกต่างจากการมองของพรรคประชาธิปัตย์



ช่วง 5-6 ปีหลังการเมืองไทยชอบมีเรื่องประหลาดๆ แบบนี้ แถลงตอบโต้กันไปมาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวไม่กระทบรัฐบาล



อย่างไรก็ตามคงไม่ยุติง่ายๆ แม้เรื่องนี้จะจบแต่ก็มีเรื่องใหม่เข้ามาอยู่ดี



สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ปาฐกถาของนายกฯ ที่มองโก เลียกับแถลงการณ์ตอบโต้ของ ปชป.นั้น ไม่สามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน



แต่ประเด็นนี้จะเป็นตัวอย่างของสังคมที่ชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงบางอย่างได้ เช่น การยึดอำนาจ การเกิดรัฐประหาร หรือการถูกทำลายหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย



สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องโกหก ไม่ใช่การแก้ต่างให้ครอบครัว และสปีชของนายกฯ ไม่สามารถทำ ให้ความผิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมดไป ความผิดก็ยังคงอยู่ สิ่งที่นายกฯ พูดคือความจริง และสังคมต้องยอมรับมัน



ผมมองว่าสปีชนายกฯ เป็นเรื่องปกติ เป็นสิทธิในการแสดงความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าจะสร้างปัญหาใดๆ ให้กับประเทศ



เพราะแม้นายกฯ จะไม่พูดเรื่องดังกล่าวทั่วโลกก็รู้ดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เรื่องแบบนี้มันปิดกันไม่ได้ ทั้งการรัฐประหารปี"49 การสลายการชุมนุมปี"53



ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์ตอบโต้ถือว่าเป็นสิทธิ์ ทุกฝ่ายย่อมมีจุดยืน เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้แสดงท่าที แต่จะเป็นการหักล้างได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคมโลกที่จะมอง



ทุกประเทศย่อมมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เช่นเดียวกับประเทศไทย เสื้อแดงก็เชียร์รัฐบาล พันธมิตรก็เชียร์พรรคประชาธิปัตย์ แต่สังคมไทยต้องทำความเข้าใจว่าการปกครองแบบไหนเป็นสิ่งที่ดี



การรัฐประหารใช่ทางออกของการแก้ปัญหาหรือไม่


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.