มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง... ไม่ธรรมดา!!
 


มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง... ไม่ธรรมดา!!


มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง... ไม่ธรรมดา!!

เคยได้ยินอาจารย์ซึ่งเป็นนักจัดวิทยุท่านหนึ่งจัดรายการวิทยุบอกกับ "คุณผู้ฟัง" ว่า

"ทำไมต้องอพยพมาอยู่กรุงเทพฯ กันด้วย กลับบ้านกันได้แล้ว"

 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์ท่านนี้แต่ที่ควรตั้งข้อสังเกตคือ

 

คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ที่อพยพมายังเมืองหลวงนั้นก็เพราะต้องการแสวงหา "พื้นที่" และ "โอกาส" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอีกทั้งยังสอดคล้องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาแบบรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง

ดังนั้น ถ้าต้องการพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตจะหลีกเลี่ยงการไม่ย้ายเข้ามาในเมืองหลวงได้อย่างไร
และนั่นจึงทำให้เมืองหลวงถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนต่างจังหวัดก็ยังเป็นสถานที่ ที่ยังค่อนข้างห่างกันในด้านการพัฒนา

 

อีกทั้งเมื่อ "เยาวชน" ส่วนใหญ่เห็นคุณค่าในการ "แสวงหาพื้นที่โอกาส" ในเมืองหลวง นานๆ เข้า "สำนึกรักบ้านเกิด" ที่ชวนกันโฆษณาก็ดูจะได้ผลไม่มากนัก

 

จึงเป็นที่มาของ "ค่ายเยาวชนใฝ่ดี" หนึ่งในโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโครงการที่นำเยาวชนในพื้นที่มาฝึกเป็น "มัคคุเทศก์น้อยดอยตุง"

 

 

สร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง ไม่ตกหลุมของยาเสพติดได้ง่าย ๆ ไม่ถูกดึงเข้าสู่กระแสวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม ทำให้เยาวชนมีปัญญา มีความรับผิดชอบ มีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีคุณธรรม คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม คิดรักษาป่าต้นน้ำ

ที่สำคัญคือ โครงการนี้ต้องการให้เยาวชนเห็นถึงพื้นที่และโอกาสในบ้านเกิดของตัวเอง เป็นโครงการตั้งแต่วันที่ 2-4  พฤศจิกายน 2555 แม้หลายเสียงจะบอกว่า จำนวนวันน้อยเกินไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

"ผลงานพิสูจน์ความสำเร็จมิใช่จำนวนวันเพื่อไปสู่เป้าหมาย"

 

ส่วนเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการนั้นมาจากนักเรียน ม.ต้นและ ม.ปลายจำนวน 40 คน จาก อบต.แม่ฟ้าหลวงอบต.โป่งผาง และ อบต.โป่งคำ

 

แน่นอนว่า มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 40 คน และเท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อถามถึงเกณฑ์ในการได้รับคัดเลือกก็ตอบว่า พิจารณาจากคำตอบที่ถามว่า "เมื่ออายุ 25 ปี จะทำอะไรและอยู่ที่ใด"

 

เป็นคำถามที่ถามได้ง่ายมาก แต่ความยากคือ จะทำอย่างไรให้คำตอบมี "ความต่าง"

 

เท่าที่สัมภาษณ์เยาวชนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "เพราะคำตอบของพวกหนูต่างจากคนอื่นมั้งคะ"

 

แต่ก็เป็นความต่างในความเหมือนที่เยาวชนเกือบทั้งหมดเลือกที่จะตอบว่า "เมื่ออายุ 25 ปี จะทำประโยชน์ให้ชุมชนที่เกิดมา" ส่วนจะทำอะไรบ้างก็แตกต่างกันไปตามความรู้ ความสนใจของแต่ละคน

ส่วนรายละเอียดกิจกรรมนั้น วันแรกคือ การเตรียมความพร้อมเยาวชน พาสำรวจพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวของดอยตุงในอดีต วันที่สองก็พาเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสำรวจพื้นที่ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวของดอยตุงในปัจจุบันและอบรมการจัดการข้อมูลสู่การนำเสนอที่น่าสนใจ

ช่วงเวลาสำคัญอยู่ที่วันสุดท้าย เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะปฏิบัติการเป็นมัคคุเทศก์น้อยดอยตุงโดยการลงพื้นที่พานักท่องเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ

จากการสังเกตการณ์ทำงานเป็น "มัคคุเทศก์" ของเยาวชนเหล่านี้ เมื่อเทียบกับ "จำนวนวัน" ที่ต้องสำรวจและศึกษาข้อมูลโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและพระตำหนักดอยตุงถือว่า "ทำได้ดีมาก"

 

มีความรู้และความเข้าใจพอสมควรที่จะอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังได้โดยไม่เบื่อ

 

ที่สำคัญคือการเห็น "ความตั้งใจ" ของเยาวชนที่จะแสวงหาความรู้ "ทุกวินาที" กินข้าวก็ท่องจำ เดินเล่นก็ท่องจำ ก่อนจะนอนก็ยังท่องจำ นี่ไม่รู้ว่าตอนทำ "ธุระส่วนตัว" จะเอาไปท่องจำกันด้วยรึเปล่า

ถ้าเอา "ความตั้งใจ" เป็นตัววัดความสำเร็จของโครงการถือว่า "ได้เกรดเอ"กันเลยทีเดียว

 


สอดคล้องกับ "พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มองเป้าหมายของโครงการคือ การปลูกฝังเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด ใช้เวลาว่างและพลังของเยาวชนในทางที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมและยังก่อประโยชน์ให้กับสังคมอีกด้วย

 

"เป้าหมายเราคงไม่ได้ต้องการให้เยาวชนเป็นมัคคุเทศก์ได้เลย แต่อยากให้เยาวชนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำอย่างไรให้พวกเขาเห็นคุณค่าและความสำคัญกับบ้านเกิดของตัวเอง เห็นประโยชน์จากโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เขาสามารถนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาบ้านเกิดมากกว่าที่จะไปพัฒนาในชุมชนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชุมชนของตัวเอง"

สอบถามเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการดูบ้าง "น้องปอย" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เผ่าอาข่า กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า ทำให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวฝึกให้ตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้นเพราะเมื่อก่อนเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเสนอความเห็น แต่เมื่อได้ความรู้ มีข้อมูลจึงกล้าที่จะเสนอความเห็น

ส่วน "น้องฟ้า" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เผ่าอาข่า เช่นเดียวกันกล่าวว่า "โครงการนี้ทำให้มีพื้นที่ในการแสดงออก โดยส่วนตัวเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้วเพียงแต่ไม่มีเวทีเท่านั้นเอง"

 

เมื่อสอบถามน้องทั้งสองคนกล่าวโตไปจะเป็มมัคคุเทศก์หรือเปล่า ทั้งสองตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "โตขึ้นไม่อยากเป็นมัคคุเทศก์แต่อย่างใด แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากโครงการนี้ก็คือ รู้แล้วว่า เมื่ออายุ 25 ปี อยากจะทำอาชีพอะไรเพื่อจะพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่"

เสียดายที่น้องทั้งสองไม่ยอมบอก "อาชีพในฝัน" บอกเพียงแต่ว่า เมื่ออายุ 25 ปี ค่อยมาสัมภาษณ์ใหม่ก็แล้วกัน

ดังนั้น "พื้นที่" และ "โอกาส" จึงเป็นสิ่งจำเป็นเสมอสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เยาวชนมีความสามารถที่หลากหลาย แต่ขาด "เวที" ในการแสดงออก

 

นอกจากนี้ "พวกเขา" ยังเห็นโอกาสในการเติบโตในชุมชนของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาใน "เมืองหลวง"แต่อย่างใด

สำคัญเพียงแต่ว่า "รัฐบาล" จะเปิดพื้นที่และให้โอกาสกับเยาวชนให้ "สำนึกรักบ้านเกิด" อย่างแท้จริงได้หรือยัง

ลืมบอกไปว่า ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า บางสิ่งบางอย่างถ้ามัวแต่รอก็คงไม่ได้เสียที ถ้าทำได้ก็ทำเลย

 

"โครงการเยาวชนใฝ่ดี" จึงยืนยันประโยคเมื่อครู่ได้อย่างแท้จริง

 

 

เรื่อง พันธวิศย์ เทพจันทร์

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.